ร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับลงประชามติ ไม่เขียนให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ตัดเรื่องการเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนาออก และเขียนนวัตกรรมใหม่ให้รัฐต้องส่งเสริมและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท และเพิ่มข้อยกเว้นเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้อง "ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ"
ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะนำไปทำประชามติให้ประชาชนได้เห็น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 สำหรับประเด็นการคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการรับรองสถานะของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงที่อ่อนไหวในสังคมไทยมานานหลายปีนั้น กรธ.เขียนสองประเด็นดังกล่าวไว้ดังนี้
"มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"
"มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย"
ไม่เขียน "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" แต่เป็นครั้งแรกที่สั่งให้รัฐสนับสนุนพุทธเถรวาท
จากมาตรา 67 จะเห็นว่า กรธ.ตัดสินใจเขียนรับรองสถานะของพระพุทธศาสนาว่า เป็น "ศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน" โดยไม่เขียนรับรองว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ตามที่มีข้อเรียกร้องจากชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง
จุดยืนของ กรธ.ในประเด็นนี้ค่อนข้างชัดเจนมาตลอด โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา เคยรายงานไว้ว่า กรธ. ชี้แจงข้อเสนอที่ให้เขียนว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ไม่สามารถบัญญัติได้ เพราะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย และในมาตรา 65 ได้บัญญัติสิ่งที่จะคุ้มครองทุกศาสนาไว้อยู่แล้ว
และในการแถลงข่าวของประธาน กรธ. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 มีชัย ก็ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่มีเสียงเรียกร้องให้บัญญัติว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การบัญญัติเช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหา และได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จึงบัญญัติขึ้นมาใหม่ให้มีการส่งเสริมการส่งเสริมการศึกษา และเผยแผ่หลักฐานของพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกที่เราจะกำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีการพัฒนาจิตใจและปัญญา
ในประเด็นนี้มีข้อสังเกตว่า แม้มาตรา 67 จะไม่ได้บัญญัติว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกหรือขัดแย้งระหว่างคนที่อยู่อาศัยในประเทศไทยที่นับถือศาสนาต่างกัน แต่ มาตรา 67 ก็ยังเขียนให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท ให้รัฐมีมาตรการปกป้องการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมการเผยแพร่หลักธรรมของศาสนาอื่นหรือศาสนาพุทธนิกายอื่นด้วย เท่ากับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงมีบทบัญญัติให้รัฐปฏิบัติต่อศาสนาหรือบุคคลที่นับถือศาสนาแตกต่างกันอย่างไม่เท่าเทียมกันได้
หากย้อนดูรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และ 2550 ในประเด็นนี้ ก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้เขียนไว้ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้กำหนดให้ส่งเสริมการเผยแพร่หลักธรรมของศาสนาใด หรือนิกายใดเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญสองฉบับนี้ยังบัญญัติให้รัฐต้องส่งเสริมความสมานฉันท์ระหว่างทุกศาสนาด้วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ตัดประเด็นนี้ออกไป
รัฐธรรมนูญ 2550
"มาตรา 79 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานและศาสนาอื่น ทั้งต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต"
รัฐธรรมนูญ 2540
"มาตรา 73 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต"
|
ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญไทยฉบับใด เขียนให้ "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"
หากย้อนดูประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยทั้ง 19 ฉบับที่ผ่านมา ไม่มีฉบับใดเลยที่เคยบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเว็บไซต์วิกิพีเดีย ขณะสืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2559 http://bit.ly/1Ts5oZy ให้ข้อมูลว่า กระแสเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นปีพุทธศักราช 2550 โดยชาวพุทธ ๗ องค์หลัก กล่าวคือ มหามกุฏราชวิทยาลัย, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย, คณะสงฆ์อณัมนิกาย, คณะสงฆ์จีนนิกาย, และ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เริ่มต้นเรียกร้อง ต่อมากลุ่มชาวพุทธได้ขยายเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 300 องค์กรทั่วประเทศและได้ผนึกกำลังกันเรียกร้องขึ้นมา
ที่มาก่อนหน้านั้น เมื่อพ.ศ. 2546 สมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร นักวิชาการชาวไทยพุทธได้เขียนตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและกล่าวไว้ว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ แต่ถูกวินัย สะมะอุน ชาวมุสลิม ท้วงติงว่ากล่าวเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีในรัฐธรรมนูญและอาจขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย ทำให้กรมวิชาการต้องสั่งให้ตัดประโยคดังกล่าวออกไปจากหนังสือหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการทุกเล่ม ซึ่งหมายความว่าถ้าจะบอกว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทย ก็จะกล่าวได้แต่เฉพาะในกรณีที่ไม่เป็นทางการเท่านั้น
ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 มีการชุมนุมใหญ่ของพระสงฆ์และกลุ่มชาวพุทธหลายต่อหลายครั้ง และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีกระแสคัดค้านจากชาวพุทธอีกกลุ่มหนึ่งและกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอื่นอีกไม่แพ้กัน สุดท้ายแม้สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จะยังไม่ได้บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยตรงแต่ก็ได้รับรองเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกไว้ในมาตรา 79 ว่า พระพุทธศาสนาเป็น "ศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน"
รอบนี้ชาวพุทธยื่น 100,000 รายชื่อกดดัน แต่ยังไม่เป็นผล
ในระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับกรธ. ในปี 2558-2559 ก็ยังมีกลุ่มชาวพุทธที่เคลื่อนไหวรณรงค์ผลักดันให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนจะถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วก็ตาม แต่ชาวพุทธกลุ่มนี้ก็ยังนำแบบฟอร์มการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือแบบฟอร์ม ขก.1 มาใช้รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนเพื่อนำไปยื่นต่อกรธ.
โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า มีการนำรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุน 10,000 ชื่อ ไปยื่นให้กรธ. แต่เมื่อกรธ.เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 โดยไม่ได้บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2559 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า กลุ่มชาวพุทธอีกกลุ่มหนึ่งจึงนำรายชื่อผู้สนับสนุนอีก 100,000 รายชื่อ มายื่นต่อกรธ. แต่สุดท้ายกรธ. ก็ไม่ได้บัญญัติประเด็นนี้ไว้ให้ตรงตามข้อเรียกร้องของชาวพุทธกลุ่มนี้
มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่เพิ่มข้อจำกัดต้อง "ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ"
สำหรับประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา ร่างรัฐธรรมนูญ ของ กรธ. รับรองเสรีภาพทั้งการนับถือศาสนา การปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไว้ในมาตรา 31 โดยมีเหตุผลที่อาจเป็นข้อจำกัดเสรีภาพได้สามประการ คือ
1) ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
2) ต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ
3) ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หากย้อนดูประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแแต่ฉบับที่ประกาศใช้เมื่อ10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา รวมทั้งรัฐธรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ต่างก็เขียนไว้คล้ายกัน แต่กำหนดเหตุผลที่เป็นข้อจำกัดเสรีภาพไว้เพียงสองประการเท่านั้น คือ 1) ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง 2) ต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ดังนั้น เหตุผลที่จะจำกัดเสรีภาพทางศาสนา ว่าต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ จึงเป็นเรื่องใหม่ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญที่เขียนรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตั้งแต่ฉบับปี 2492 เป็นต้นมา ล้วนเขียนหลักการในวรรคสองไว้คล้ายกันทุกฉบับทำนองว่า บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐลิดรอนสิทธิหรือต้องเสียประโยชน์ เพราะเหตุที่นับถือศาสนาแตกต่างจากบุคคลอื่น แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ไม่ได้เขียนหลักการนี้ไว้ด้วย