รีวิว ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของมีชัย

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธ์ ยังคงยืนในรูปแบบเดิมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ คือการใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed member apportionment system หรือ MMA) แม้จะมีข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ขอให้แก้ไขแต่ กรธ.ก็ยังคงยืนยันในระบบนี้ เนื่องจากเห็นว่าระบบเลือกตั้งนี้จะช่วยให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย ขณะที่นักวิชาการหรือพรรคการเมืองก็สะท้อนถึงปัญหาของระบบเลือกตั้งรูปแบบนี้ ที่จะส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ มีโอกาสที่จะซื้อเสียงมากขึ้น และไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียง ฯลฯ
 
กาครั้งเดียว ได้ทั้งคน ได้ทั้งพรรค
 
ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อกาผู้สมัครที่ชื่นชอบ ขณะเดียวกันการกาผู้สมัครที่เราชื่นชอบจะส่งผลให้เป็นการเลือกพรรคการเมืองที่เขาสังกัดอยู่ไปด้วย ซึ่งคะแนนที่เราให้พรรคจะนำไปคำนวณเพื่อคิดที่นั่ง ส.ส.ทั้งสภาที่พรรคการเมืองนั้นควรจะได้  
 
ที่มาของ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 
 
ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน ยังคงเป็นระบบเลือกตั้งเสียงข้างมาก หรือ หนึ่งคนหนึ่งเขต ที่ใช้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 คือแต่ละเขตจะมี ส.ส.ได้เขตละ 1 คน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้เพียงคนเดียว ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะได้เป็น ส.ส. ยกเว้นคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด (งดออกเสียง) สูงกว่าคะแนนของผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด
 
ที่มาของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
 
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน เป็นบัญชีเดียวกันทั้งประเทศ โดยพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้นที่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ เนื่องจากการเลือกตั้งจะใช้บัตรใบเดียวคือ หนึ่งคะแนนลงให้ผู้สมัครที่ชื่นชอบในเขตของตน จะถูกนับเป็นหนึ่งคะแนนในการคิดที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัดอยู่ด้วย
 
อย่างไรก็ตาม จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้แยกขาดจากจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต เพราะคะแนนทั้งประเทศที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจะถูกนำไปคำนวณเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นควรจะมี และเมื่อได้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะมีแล้ว ให้นำมาหักลบกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
 
วิธีการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส.ที่แต่พรรคการเมืองจะได้
 
 
(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของ ส.ส.ทั้งสภา 
 
จากรูป ทุกพรรคการเมืองมีคะแนนรวมกัน 40 ล้านเสียง ก็ให้นำมาหารด้วย 500 จะเท่ากับ 80,000  
 
(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) คือ 80,000 ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกเขต จำนวนที่ได้รับจะเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะมีได้ 
 
จากรูป พรรค ก ได้คะแนน 18 ล้านเสียง เมื่อนำ 80,000 ไปหาร ก็จะได้จำนวน ส.ส.ที่พรรคจะมีได้คือ จำนวน 225 คน  
 
(3) นำจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะมีได้ ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ 
 
จากรูป พรรค ก ได้ ส.ส.ทั้งหมด จำนวน 225 คน เมื่อลบกับ ส.ส.แบบแบ่งเขตที่มีจำนวน 200 คน พรรค ก จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 25 คน  
 
(4) ถ้าพรรคการเมืองใดได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต เท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะมีได้ ให้พรรคนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะมีได้ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะมีได้
 
สมมติว่า พรรค ช ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 102 คน แต่พรรค ช มีจำนวน ส.ส.ที่ควรจะได้ 100 คน ซึ่งจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตมากกว่าจำนวน ส.ส. ที่ควรจะได้ ดังนั้น พรรค ช จึงไม่มีสิทธิได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
 
อย่างไรก็ตาม การนับคะแนน หลักเกณฑ์ วิธีการคํานวณ และการคิดอัตราส่วนที่ชัดเจน ยังต้องรอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
 
ได้คะแนนน้อยกว่างดออกเสียง ให้เลือกตั้งใหม่ คนเก่าสมัครอีกไม่ได้
 
ในเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด (งดออกเสียง) เป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้น ให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และไม่ให้นับคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคำนวณที่นั่งที่แต่ละพรรคจะต้องได้ หากเกิดกรณีนี้ ผู้สมัครทุกรายในเขตนั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนั้นอีก และให้ กกต.ดำเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่
 
ตัวอย่าง หากมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 100,000 คน ในเขตเลือกตั้งแห่งหนึ่ง นาย ก. ได้คะแนนสูงสุด คือ 30,000 คะแนน แต่คะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด คือ 40,000 คะแนน เท่ากับว่าคะแนนนาย ก. แพ้ ในเขตนี้ก็จะต้องเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัครเดิมทุกคนในเขตนี้จะลงสมัครอีกไม่ได้