หลังจากวันที่ 29 มีนาคม 2559 ได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติแล้ว คำถามที่หลายคนจดจ่ออยู่ก็คือ แล้วจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่?
หากจะนับวันเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร คงต้องย้อนกลับมาดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่
เริ่มจากวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลคาดว่าจะเป็นวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หากได้เสียงเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลประชามติ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
จากนั้น กรธ. จะส่งส่งร่าง พรป.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง พรป. แต่ละฉบับ หาก สนช. เห็นชอบ ก็จะส่งผลให้ร่าง พรป. มีผลบังคับใช้
โดยตามมาตรา 268 ระบุว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ พรป. 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ได้แก่ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พรป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
รวมความแล้ว หลังวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 30+240+60+150 = 480 วัน หรือ 16 เดือน กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง คาดว่าจะได้เลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร็วประมาณเดือนธันวาคม 2560
อย่างไรก็ดี ตัวเลข16 เดือน เป็นตัวเลขอย่างช้า กล่าวคือ มีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งอาจจะเร็วขึ้น เพราะมีการกำหนดว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างกฎหมายประกอบเสร็จทุกฉบับก่อน แต่เอาแค่ 4 ฉบับก็พอ หรืออาจจะนานกว่า 16 เดือน หากพระมหากษัตริย์มิได้ลงพระปรมาภิไธย หรือในกรณีที่สนช. ลงมติไม่เห็นชอบกฎหมายประกอบดังกล่าว
แต่ทว่า จุดที่สำคัญอีกประการหนึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ หากพระมหากษัตริย์มิได้ลงพระปรมาภิไธย หรือในกรณีที่ สนช. ลงมติไม่เห็นชอบ พรป. หรือในกรณีที่ กรธ. ร่างกฎหมายไม่เสร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ (240 วัน) แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป?