หนึ่งในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ) ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากที่สุด ก็คือมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”
กล่าวคือ “ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ได้กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ “เรียนฟรี” เพียง 12 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ม.ต้น เท่านั้น
จากเดิมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 43 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 49 กำหนดว่า “ไม่น้อยกว่า” 12 ปี
ขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายกรอบเวลาเรียนฟรีเป็น 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุนาล-ม.ปลาย รวมถึง ปวช. ตาม “โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ” ครอบคลุมทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา โดยให้การอุดหนุนค่าเล่าเรียนต่อหัวของนักเรียน ทั้งในรูปตัวเงิน และให้แก่สถาบันการศึกษาและครอบครัวนักเรียน
และรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คน ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังลดสิทธิการ “เรียนฟรี” ใช่หรือไม่”
บทบัญญัติดังกล่าว ทำให้เยาวชนกลุ่ม “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” ออกมาทวงสิทธิการเรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย ที่หายไปโดยทันที
ขณะที่ผู้ปกครองหลายๆ คน (นำโดย คมเทพ ประภายนต์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ) ก็เกิดคำถามขึ้นในใจ
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ) มาตรา 54 ที่บัญญัติให้รัฐจัดให้มีการเรียนฟรีเพียง 12 ปี จากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายให้เรียนฟรีถึง 15 ปี
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงถึงสาเหตุที่ตัดการเรียนฟรีในระดับ ม.ปลายออกไปว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างคนจนกับคนรวย ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน เพราะเด็กจะพัฒนาได้ต้องอยู่ระหว่าง 2-5 ขวบ ซึ่งคนมีเงินได้รับการพัฒนา แต่คนจนไม่ได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้น พอถึงระดับ ม.ปลายก็เสียเปรียบ สู้กันไม่ได้ เพราะตอนนั้นสมองไม่พัฒนาแล้ว
“สิ่งที่เราทำก็คือการร่น 12 ปีลงมาข้างล่างเพื่อรองรับคนจน แล้วพอถึงระดับ ม.ปลาย คนจนก็จะได้รับการดูเพราะจะมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนมีสตางค์ก็ออกสตางค์ เพราะฉะนั้น ความทัดเทียมถึงจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้คนจนก็จะแย่ เสียเปรียบ” นายมีชัยชี้แจง
ขณะที่ สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าดูมาตรา 54 วรรคหนึ่ง จะต้องดูมาตรา 258 ที่ระบุให้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา” ควบคู่กันไปด้วย โดยปัจจุบันประเทศไทยลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาปีละ 4-5 แสนล้านบาท แต่มีการลงทุนในระดับก่อนประถมน้อยมาก ทั้งที่ทั่วโลกได้หันกลับมาเน้นการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพราะเห็นได้ชัดว่าหากสมองเด็กวัยนี้ได้รับการพัฒนาก็จะเจริญได้เต็มที่ถึง 90%
“ร่าง รธน.นี้ มาตรา 54 มุ่งสร้างคนคุณภาพตั้งแต่ก่อนวัยเรียน และยังลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยปฏิรูประบบการเงินคือตั้งกองทุน เมื่อเด็กเรียนจบ ม.3 และเรียนต่อ หากเป็นเด็กยากจนจะได้เข้ากองทุนนี้ซึ่งจะได้เรียนฟรี โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจนที่สุดของประเทศที่มีประมาณ 10%”
อย่างไรก็ตาม สมพงษ์ก็ยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ก็ยังมีข้อห่วงใย คือจะทำให้นักเรียนบางส่วนเสียสิทธิจากที่เคยได้รับการอุดหนุนจากรัฐ เช่น แบบเรียน ชุดนักเรียน แต่ตนมั่นใจว่า หากมีการทำความเข้าใจ 2 มาตรานี้ให้กับเด็กและผู้ปกครอง เชื่อว่าจะยินยอม เพราะเราเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมมานาน
ที่มา: ไทยพับลิก้า