วิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท” ยืนยันว่า ที่อยู่เว็บไซต์ตรวจสอบสิทธิออกเสียงประชามติซึ่งมีการส่งต่อเผยแพร่กันทางสังคมออนไลน์ก่อนหน้านี้ คือ http://118.174.31.146/Election/Elecenter/intercervotsv/ และต่อมามีการแจ้งว่าเป็นเพจปลอมนั้น ขอยืนยันว่าเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ของเว็บไซต์ www.khonthai.com ซึ่งสามารถใช้งานได้ ไม่มีปัญหาการขโมยข้อมูลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ได้เปิดตรวจสอบสิทธิการออกเสียงประชามติ และสถานที่ออกเสียง วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผ่านช่องทาง www.khonthai.com เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน แทนการไปตรวจจากบัญชีรายชื่อผู้ออกเสียง (อส6) หรือหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (อส7) โดยประชาชนเพียงกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เท่านั้น
ที่อยู่ไอพี หรือ IP address (Internet Protocal address) นั้นเป็นเลขที่อยู่ของเครื่องแม่ข่าย ซึ่งเว็บไซต์ทุกแห่งในโลกจะต้องมีเลขนี้ เพียงแต่ไม่ค่อยมีการนำออกมาเผยแพร่ทั่วไป เพราะจดจำยาก แต่จะมีการตั้งชื่อเว็บไซต์ หรือ Domain name มาเชื่อมโยงแทน เพื่อให้คนทั่วไปจดจำได้ง่ายยิ่งกว่า
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ นำเลขที่อยู่เว็บไซต์ดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่าเลข 118.174.31.146 เป็นเลขไอพีที่จดทะเบียนดูแลโดย บมจ.ทีโอที < http://www.whois.com/whois/118.174.31.146 > และถูกใช้เป็นที่ตั้งของเว็บไซต์ “ฅนไทยดอตคอม” ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการข้อมูลข่าวสารทางทะเบียนราษฎร์ ที่กระทรวงมหาดไทยเปิดให้บริการมานานนับสิบปีแล้ว
ทั้งนี้ แม้จะยังไม่พบข้อมูลว่ามีการปลอมเว็บไซต์ดังกล่าวขึ้น แต่ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ก็แนะนำว่า ขอให้สังเกตดูที่อยู่เว็บเป็นหลัก ถ้าตัวเลขในที่อยู่เว็บนั้นเป็น http://118.174.31.146/ หรือ www.khonthai.com ก็ขอให้มั่นใจว่าเป็นเว็บไซต์ตรวจสิทธิออกเสียงประชามติของจริง ไม่มีการขโมยข้อมูลแต่อย่างใด
หากกรอกเลขประจำตัวประชาชนไปแล้วต้องกังวลหรือไม่ ?
ตามที่ได้มีการยืนยันไปแล้วว่าเว็บดังกล่าวเป็นของกรมการปกครอง ซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลใจว่าจะโดนขโมยข้อมูล (หรือบางคนกังวลว่าจะกระทบบัญชีพร้อมเพย์ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด)
อีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้มั่นใจ เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว สามารถสังเกตได้อีกจุดหนึ่งว่า เว็บไซต์จะต้องถามเพียงเลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ไม่มีการถามชื่อ รหัสผ่าน หรือหมายเลขโทรศัพท์เพิ่มเติมอีก
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต การคลิกลิงก์ใด ๆ โดยเฉพาะหน้าเว็บที่เข้าไปแล้วมีช่องให้เรากรอกข้อมูลต่าง ๆ จะต้องระมัดระวังเว็บไซต์หลอกลวงเพื่อเอาข้อมูลของเรา ดังนั้น การใส่ใจตรวจสอบชื่อเว็บให้ถูกต้อง เป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง
ย้อนรอยข่าวลือ
สำหรับที่มาของข้อความที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ติดตามตรวจสอบพบว่าเป็นการแต่งเติมข้อความเพิ่มเติมโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ข้อความแรกเริ่มที่ส่งต่อกันเริ่มต้นเมื่อประมาณวันที่ 15 ก.ค.จากข้อความว่า
พิมพ์เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ตรวจสอบสิทธิออกเสียงประชามติ วันที่ 7 ส.ค.59 เวลา 08.00-16.00 ได้เลยครับ ช่วยแชร์ด้วยนะครับเป็นประโยชน์มาก http://118.174.31.146/Election/Elecenter/intercervotsv/index.php
คาดว่าผู้ที่เริ่มต้นส่งต่อข้อความ นำที่อยู่เว็บดังกล่าวมาด้วยวิธีการ “คลิกขวา-คัดลอกที่อยู่เว็บ” เพื่อนำลิงก์ตรงจากหน้าแรกของเว็บไซต์ www.khonthai.com มาส่งต่อ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเข้าผ่านหน้าแรก ซึ่งในขณะนั้นได้ตั้งค่าที่อยู่ลิงก์ไว้เช่นนั้น แต่ต่อมาได้เปลี่ยนที่อยู่ในลิงก์นั้นเป็น http://www.khonthai.com/Election/Elecenter/intercervotsv/index.php แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านที่อยู่ใด ก็จะเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์เดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อมีการแชร์ข้อความดังกล่าวไปมากขึ้น เริ่มมีผู้ที่เห็นชื่อเว็บไซต์เป็นตัวเลขแล้วไม่แน่ใจ จึงเข้าใจว่าชื่อเว็บที่เป็นชุดตัวเลขดังกล่าว เป็นเว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้วางใจ จึงเริ่มเพิ่มเติมข้อความเตือนภัยเข้าไป และนำไปแชร์ต่อ มีข้อความต่าง ๆ เช่น
ถ้าได้รับข้อความนี้อย่าเชื่อครับเปนเพจลวงให่เราพิมพ์เขากำลังจะขโมยข้อมูลเราครับ
พิมพ์เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ตรวจสอบสิทธิออกเสียงประชามติ วันที่ 7 ส.ค.59 เวลา 08.00-16.00 ได้เลยครับ ช่วยแชร์ด้วยนะครับเป็นประโยชน์มาก http://118.174.31.146/Election/Elecenter/intercervotsv/index.php
เพจปลอมช่วยกันบอกต่อๆครับมิจฉาชีพสร้างมาหลอกครับ
เมื่อหลายคนที่ได้คลิกลิงก์ดังกล่าวไปแล้ว และเพิ่งได้รับข้อความเตือนภัยในเวลาต่อมา จึงยิ่งรู้สึกตื่นตระหนกตกใจ และทำให้เกิดความแตกตื่นและสับสนอย่างกว้างขวางตามมา ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากข้อความเตือนภัยเผยแพร่เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 กรกฎาคม 2559
ขณะที่มีเว็บไซต์บางแห่งนำข้อความที่แชร์ต่อดังกล่าวมาเขียนเป็นข่าวและตั้งข้อสังเกตหรือข้อสรุปอย่างไม่ถูกต้อง จึงยิ่งสร้างความตื่นตระหนกในสังคมมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น หากพบข้อความเตือนภัยแบบนี้ ถือว่าไม่ใช่ความจริง ดังนั้น จึงไม่ควรแชร์ต่อ
ที่มา: สำนักข่าวไทย