สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: สิทธิทางสาธารณสุข เพิ่มสิทธิมารดา คำว่า "สิทธิเสมอกัน" หายไป

สิทธิทางด้านสาธารณสุขในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม เนื่องจากกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง และกังวลของสังคมคือ ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติจะเปิดทางทางให้รัฐ “ยกเลิกบัตรทอง” ในอนาคตหรือไม่ หรือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างที่ครอบคลุมเนื้อหาการดูแลสุขภาพประชาชน “ตั้งแต่ท้องแม่จนถึงแก่เฒ่า” ตามคำขวัญที่โฆษณากัน
 
 
 
 
 
สิทธิทางด้านสาธารณสุข ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มีอะไรบ้าง
 
สิทธิในการได้รับการบริการสาธารณสุข และสวัสดิการรัฐในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข และสวัสดิการของรัฐในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 อยู่ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 47-48
 
           "มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐ
           บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ
           บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
 
           มาตรา 48 สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ
           บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ"
 
และอีกครั้งเขียนอยู่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 55
 
            "มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค และสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
            บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมส่งเสริมสุขภาพการควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
            รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
 
จากเนื้อหาตามมาตรา 47 และ 48 สามารถอธิบายได้ว่า ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐ และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษา หรือการบริการด้านอื่นๆ ทางด้านสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด เมื่อเกิดโรคระบาดหรือโรคติดต่ออันตราย ร้ายแรง เช่น โรคซาร์ส อหิวาตกโรค เป็นต้น ประชาชนมีสิทธิได้รับการป้องกัน และกำจัดโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมาตรา 48 หญิงตั้งครรภ์และมารดาจะได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายกำหนด ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี รวมทั้งผู้ยากไร้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐโดยเป็นไปตามกฎหมายกำหนดเช่นเดียวกัน
 
จากเนื้อหาในมาตรา 55 หมายความว่ารัฐมีหน้าที่จัดบริการทางด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมทั้งเสริมสร้างประชาชนให้มีความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรค และสนับสนุนให้มีการพัฒนาทางด้านการแพทย์แผนไทย
 
 
"คุ้มครองตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า" สโลแกนโปรโมตร่างรัฐธรรมนูญ
 
ภัทระ คำพิทักษ์ หนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยชี้ว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เพิ่มสิทธิมารดา และสิทธิผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และผู้ยากไร้จะได้รับสวัสดิการความช่วยเหลือจากรัฐ ถ้ามองโดยภาพรวมแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “มีเนื้อหาที่ดูแลประชาชนตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า”  
 
สโลแกน "คุ้มครองตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า" เป็นหนึ่งในคำขวัญที่ถูกใช้โปรโมตร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในหลายๆ โอกาส เช่น ในสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ที่กกต.พิมพ์แจกให้ประชาชนก็มีคำขวัญนี้เขียนไว้ชัดเจนท้ายเล่มด้วย
 
 
ภาพประชาสัมพันธ์ เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ จากเพจรัฐธรรมนูญ Insight
 
 
เปรียบเทียบ 40 50 สิทธิมารดาเป็นเรื่องใหม่ แต่การคุ้มครอง - สิทธิคนพิการกลับหายไป
 
เมื่อนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 2550 จะพบว่ามีประเด็นที่สิทธิได้รับบริการทางสาธารณสุขถูกลดทอนและหายไปหลายประเด็น ดังนี้
 
1) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ได้ตัดคำว่า “สิทธิเสมอกัน” และ “การได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม" ออกไป ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างเสมอกัน เป็นไปตามมาตรฐาน และความเหมาะสม ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติอาจจะทำให้เกิดการยกเลิกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นที่มาของวาทกรรม “ล้มบัตรทอง” ในอนาคตได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม 
 
2) สิทธิของเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัวที่จะต้องได้รับการคุ้มครองให้ปราศจากความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งสิทธิผู้พิการไม่เป็น "สิทธิ" ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 ที่ระบุสิทธิของกลุ่มนี้ไว้อย่างชัดเจน เพราะถือว่า คนเหล่านี้เป็นกลุ่มเปราะบางต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐออกจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ
 
แม้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ จะไม่ได้กำหนดให้ การได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ และการคุ้มครองเด็ก สตรี คนในครอบครัว ในเป็น "สิทธิ ของประชาชน แต่ก็ยังนำประเด็นนี้ไปเขียนเป็น "หน้าที่ของรัฐ" ที่ต้องจัดให้ประชาชน ในมาตรา 71 วรรคสาม ว่า
 
           "รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยา
ผู้ถูกกระทำการดังกล่าว"
 
การเปลี่ยนแปลงประเด็นนี้เป็นการเปลี่ยนในทางหลักการที่ย้ายจากการรับรอง "สิทธิ" ของประชาชน มาเป็นกำหนด "หน้าที่" ที่รัฐต้องจัดให้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนหลักการใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พร้อมกับสิทธิประเด็นอื่นๆ อีกด้วยเช่นกัน
 
3) ผู้สูงอายุยังคงมีสิทธิรับสวัสดิการเฉพาะคนที่ยากจน แม้ว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540, 2550 และร่างฉบับปัจจุบันจะกำหนดประเด็นนี้ไว้เหมือนกัน คือ ผู้ที่อายุหกสิบปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ 
 
แต่เนื่องจากในทางปฏิบัติพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2553 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2552 ที่ใช้กันอยู่กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ผู้สูงอายุทุกคนมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ โดยไม่ต้องพิจารณาฐานะทางเศรษฐกิจว่ายากจนหรือร่ำรวย ดังนั้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในปี 2559 จึงควรร่างให้สอดคล้องกับทางปฏิบัติ หรืออย่างน้อยรัฐธรรมนูญก็ควรบัญญัติคุ้มครองสิทธิของประชาชนไว้ไม่ให้ต่ำกว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่จริง 
 
4) ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ กำหนดคุ้มครองสิทธิของมารดาตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังคลอด ซึ่งเป็นทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ไม่เคยกำหนดเรื่องนี้มาก่อน จึงกล่าวได้ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติ ก็จะเป็นครั้งแรกที่เรื่องนี้ได้เขียนไว้ในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับคำขวัญส่วนที่ว่า "คุ้มมครองตั้งแต่ท้องแม่"
 
แต่ขณะเดียวกัน แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดคุ้มครองสิทธิของมารดาไว้เช่นนี้ สิทธิในการได้รับการดูแลทางสาธารณสุขของหญิงมีครรภ์ การคลอดบุตร และการดูแลหลังคลอด ก็เป็นบริการสาธารณสุขขั้นพื้นที่ฐานที่ต้องได้รับโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้วตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
 
 
สิทธิการได้รับการบริการทางสาธารณสุขที่ถูกลดทอน และหายไป?
 
ประเทศไทยเริ่มใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนมาตั้งแต่ ปี 2545 ภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือ ที่เคยใช้ชื่อว่าระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค และต่อมาเปลี่ยนเป็นไม่เก็บค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว บางคนจึงเรียกชื่อใหม่ว่า ระบบ "บัตรทอง"
 
แนวคิดพื้นฐานของระบบนี้ คือ การรักษาสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่รัฐต้องจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ลักษณะการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ไม่ใช่บริการที่จะจัดให้ตามจำนวนเงินในกระเป๋า โดยมาตรฐานและคุณภาพการรักษาต้องเท่าเทียมกันหมดทุกคน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ รัฐมีหน้าที่ในการพัฒนาระบบ โดยการจัดการงบประมาณจากเงินภาษีทั้งทางตรง และทางอ้อมมาบริหารจัดการ 
 
แต่เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 47 เทียบกับหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้กันอยู่ จะเห็นว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนั้นล้าสมัยกว่าความเป็นจริงที่ปฏิบัติกันอยู่ เพราะเขียนว่า เฉพาะ "ผู้ยากไร้" ที่จะได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 ปี 
 
การที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนให้สิทธิเฉพาะ "ผู้ยากไร้" นั้น เป็นการเขียนลักษณะเดียวกันกับ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ทั้งที่ประเทศไทยใช้ระบบหลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตั้งแต่ปี 2545 สะท้อนให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแนวคิดถอยหลังในทางสิทธิด้านบริการสาธารณสุข และเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคม 
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า นิมิต เทียมอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เคยให้ความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยมีแนวโน้มที่น่ากังวล เพราะมีเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ไม่เคารพต่อสิทธิประชาชนที่ต้องได้รับการดูแล จากรัฐทั่วถึงและเท่าเทียม เพราะการที่ระบุไว้ว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามที่กฎหมายบัญญัติ เท่ากับเป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กับระบบ ให้กับนักการเมืองที่จะก้าวขึ้นมา หากเมื่อไหร่กังวลว่างบประมาณของประเทศว่าจะถูกใช้ด้านการรักษาพยาบาลมากเกินไป ก็ไม่ต้องมีพันธะผูกพันการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน และอาจให้มีการเรียกเก็บเงินได้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว และระบบจะกลับไปสู่การสงเคราะห์หรือไม่สงเคราะห์ก็ได้ 
 
ด้าน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานข้อสังเกตของ จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพว่า การเขียนร่างรัฐธรรมนูญฯ เช่นนี้ แทนที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นของ “ประชาชนทุกคน” ในที่สุดจะกลายเป็นการจัดระบบรักษาพยาบาลสำหรับ “คนยากจน” เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น “คนยากจน” จะได้รับบริการชั้น 3 โดยเป็นบริการรักษาพยาบาลที่ด้อยกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ 
 
 
คำอธิบายของ กรธ. กับประเด็นการตัดสิทธิทางการบริการทางด้านสาธารณสุขของประชาชน
 
ในด้านของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีการออกมาโต้แย้งต่อประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ โดยมติชนออนไลน์รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. ได้กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีการตัดสิทธิของประชาชน แต่ในทางกลับกัน เป็นการเพิ่มสิทธิ โดยเฉพาะในสิทธิประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข และระบบบัตรทองไม่เคยถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาก่อน ซึ่ง กรธ. เพียงแค่กำหนดไว้เพียงว่า ผู้ยากไร้ต้องได้รับการดูแลทางด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงความเป็นได้ในการดำเนินการด้วยเช่นกัน
 
ส่วนโฆษก กรธ. นายอุดม รัฐอมฤต ได้ให้คำยืนยันว่า กรธ. ไม่ได้มีแนวคิดในการลดทอนหรือตัดสวัสดิการทางด้านสาธารณสุขของประชาชนที่ได้รับก่อนหน้าออก นอกจากนี้นายอุดมยังมองว่า การวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรธ.จะตัดสิทธิทางสาธารณสุขของประชาชนออกนั้นเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรค 2ด้วย
 
นอกจากนี้ภัทระ คำพิทักษ์ ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีใจความว่า ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมประเด็นเรื่อง การยกเลิกบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามตินั้นไม่เป็นความจริง และยังเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. ประชามติฯ แล้ว ยังใจดำกับประชาชนอีกด้วย นอกจากไม่มีการยกเลิกกองทุนต่างๆ แล้ว เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนั้นยังกำหนดให้กองทุนต่าง ๆ ต้องปรับระบบให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยได้ยกตัวอย่าง มาตรา 258 ในหมวดปฏิรูปที่กำหนดว่า “ปรับระบบประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน"
 
ภัทระได้อธิบายว่า กองทุนด้านสุขภาพทั้ง 3 กองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และบัตรทอง ต้องมีการปรับสิทธิประโยชน์ การบริหารการจัดการ และการเข้าถึงบริการให้อยู่ภายใต้เงื่อนของคำว่า “คุณภาพ และ “สะดวกทัดเทียม” นอกจากนั้น ประชาชนจะได้รับการดูแลที่ดีขึ้นจากรัฐ โดยระบุไว้ในมาตรา 55 “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพทั่วถึง” ซึ่งรัฐต้องจัดการบริการให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม ป้องกัน การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งนายภัทระมองว่าเป็นการให้บริการแบบ “ครบวงจร”