ชาวบ้าน 11 เครือข่ายประกาศชัด Vote NO ไม่รับร่าง รธน.

24 ก.ค. 2559 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเวที “เสียชาวบ้านกับร่างรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ” ซึ่งเวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งในงาน ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน ซึ่ง 43 องค์กรร่วมจัดขึ้น และสำหรับเวทีเสียงชาวบ้านครั้งนี้มีเครือข่ายชาวบ้านร่วมเวทีทั้งหมด 11 เครือข่ายประกอบด้วย 1.เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ 2.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 3.สมัชชาคนจน 4. เครือข่ายสลัม 4 ภาค 5.เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ 6.เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ และกลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ 7.สมัชชาอู่ข้าวอู่น้ำภาคกลาง 8.กลุ่มคนงานย่านรังสิต 9.สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) 10.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจาก ม.44 และคำสั่ง คสช. และ 11.เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas)

จะรับร่างได้อย่างไร เมื่อรัฐธรรมนูญยังมองคนไม่เท่ากัน

สมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ เริ่มต้นการแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยระบุว่า หลังจากปี 2545 ประเทศไทยได้เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบที่ให้ประชาชนได้เข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน ซึ่งคำว่า เสมอภาค และเท่าเทียมกัน มีนัยคัญคือ เมื่อใดก็ตามที่เข้ารักการรักษาผู้ใช้บริการไม่ต้องแสดงให้เห็นถึงความยากจน ทุกคนเป็นคนไทยที่มีเลขประจำตัวประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

“ในมาตรา 51 ในรัชฐธรรมนูญปี 2550 ในนั้นเขียนว่า บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตราฐาน สังเกตุคำว่า เสมอกัน นะครับไม่มีอย่างอื่น ฉะนั้นกฎหมายลูกจึงได้มีการจัดตั้งระบบประกันสุขภาพได้และจัดบริการให้กับคนทุกคน แต่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ในมาตราที่ 47 เขียนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ และช่วงหนึ่งเขียนอีกว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สิ่งที่หายไปก็คือสิทธิด้านการรักษาของประชาชนออกไป แล้วให้เหลือเฉพาะผู้ยากไร้” สมชาย กล่าว

สมชายวิเคราะห์ว่า เรื่องระบบประกันสุขภาพที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ประชาชนทุกคนอาจจะไม่ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันอีกต่อไป และมีลักษณะของการให้บริการในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ได้มองว่าสิทธิเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนพึ่งมีพึ่งได้

“ข้อสังเกตุของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญนี้ มันเป็นการเอาสิทธิของประชาชนออกไป และเมื่อเอาสิทธิออกไปแล้ว สิ่งที่เขาทำ ซึ่งทำก่อนที่จะมีการลงประชามติด้วยซ้ำไปคือ การทำระบบรับลงทะเบียนคนจน ฉะนั้นมันมีเจตนารมย์ที่สอดรับกันระหว่างสองเรื่องนี้ นอกจากลดทอนสิทธิแล้ว การลงทะเบียนการหาว่าใครคือคนจน อันนี้มันการริดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ของคน ฉะนั้นพวกเราไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ริดรอนสิทธิ และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” สมชาย กล่าว

การกระจายการถือครองที่ดินอาจจะไม่มีอยู่จริง

“แต่ว่าการกระจายการถือครองที่ดินในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ เขียนไว้ในมาตราที่ 72 ในแนวนโยบายแห่งรัฐ เขียนไว้กว้างๆ ว่ารัฐพึ่งกระจายการถือครองที่ดิน เขียนไว้แค่นี้ คือทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ประเทศไทยปฎิรูปที่ดินมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ก็ทำไม่สำเร็จจนกระทั่งปัจจุบัน ฉะนั้นการมาเขียนไว้ง่ายๆ ว่ารัฐพึ่งกระจายการถือครองที่ดิน มันก็เป็นเรื่องสิ้นหวัง” อุบล อยู่หว้า กล่าว

อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก ได้ระบุถึงประเด็นการกระจายการถือครองที่ดินในร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่สิ้นหวัง ด้วยเหตุว่าไม่ได้มีการที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงว่ารัฐจะต้องดำเนินการปฎิรูปการถือครองที่ดิน มีแต่เพียงแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่อาจจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้

คนจนคือผู้ได้รับผลกระทบมาตลอดหลังจากการเข้ามาของ คสช.

ไพฑูรย์ สร้อยสอด สมัชชาคนจน ได้แถลงถึงจุดยืนของสมัชชาคนจนว่า หลังจากการเข้ามาของ คสช. คนจนกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งเรื่องการทวงคืนผืนป่า ซึ่งแม้จะการกำหนดว่าจะไม่ให้ส่งผลดระทบต่อผู้ยากไร้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นคนจนเป็นกลุ่มแรกที่ถูกไล่ออกจากพื้นที่ เขากล่าวต่อว่า แม้แต่กรณีการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร ซึ่งโครงการถูกหยุดพักไป คสช. ก็ได้มีการดำเนินโครงการต่อ โดยไม่มีการรับฟังความคิดของชาวบ้าน

"สิ่งเหล่านี้ที่เขาทำคือ การทำร้ายคนจน เขาพยายามจะกดหัวเราไม่ให้เราได้แสดงออก ฉะนั้นพวกเรารับไม่ได้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้" ไพฑูรย์ กล่าว

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดทอน และทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

สุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้แถลงจุดยืนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดทอน และทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่การดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง

เขากล่าวต่อไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พื้นที่ทางการเมืองถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ ลดทอนอำนาจ ศักดิ์ศรความเป็นมนุษย์ของประชาชน ไม่เหลือพื้นที่การมีส่วนร่วมในการบวนการใช้อำนาจทางการเมือง ประชาชนจะไม่สามารถกำกับสถาบันทางการเมือง หรือกลไกต่างๆ ทางการเมืองได้เลย และร่างจะก่อให้เกิดสภาวะระบบข้าราชการเป็นใหญ่ ทำให้ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะตัวแทนสประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง จะถูกกำกับถูกควบคุมโดยกลไกจากองค์กรต่างๆ ที่มาจากการแต่งตั้ง และองค์กรเหล่านี้มีอำนาจมีบทบาทมากกว่าตัวแทนของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งเข้าไป

“ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ 1 สิทธิ 1 เสียง ของประชาชนเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดโอกาสประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ หรือมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นแต่อย่างใด เมื่อไร้สิทธิเสรีภาพ ก็ไร้อำนาจการต่อรองทางการเมือง และจะถามหาสิ่งที่เป็นเรื่องของความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ประชาชนพอจะลืมตาอ้าปาก ได้พัฒนาชีวิความเป็นอยู่ ถ้าระบบสูงสุดผิดพลาดคลาดเคลื่อนและบิดเบือนไปจากสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ประชาชนทั้งหลายจะกลายเป็นเหยือสังเวยอำนาจไปโดยปริยาย รัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของบ้านเมืองจะนำพาประเทศชาติไปสู่หายนะ” สุรพล กล่าว

ที่มา: ประชาไท