ประเทศไทยมีอะไร "เกินความจริง" อยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ที่เสนอให้ไปขายยางพาราที่ดาวอังคาร หรือการเรียกมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากรัฐซื้อของด้อยคุณภาพว่า ค่าซื้อความรู้ที่แพงไปหน่อย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้เรื่องที่เกินจริงสุดๆ คงจะหนีไม่พ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่จะให้คนไปลงประชามติ ที่ผู้ร่างมีคำอธิบายข้อดีไม่น้อยกว่ากระดาษเอสี่นับสิบแผ่น แต่ทว่า มันจะเป็นความเกินจริงอีกหรือไม่ เราจึงขอให้ "จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์" ในฐานะนักเขียนผู้มากประสบการณ์กับการเมืองแบบเกินจริง และเจ้าของหนังสือ "การเมือง เรื่องเซอร์เรียล" เป็นผู้ท้าพิสูจน์
- ส่วนตัวสนใจเรื่องการลงประชามติขนาดไหนครับ จะไปลงประชามติครั้งนี้หรือเปล่า
สนใจเรื่องการลงประชามติระดับหนึ่งครับ แต่ไม่ถึงกับติดตามมากมายอะไร เพิ่งมาสนใจจริงๆ ก็ตอนที่พบว่ามีเพื่อนหรือคนรู้จักหลายคนถูกดำเนินคดีเพียงเพราะเขาพยายามจะวิพากษณ์วิจารณ์หรือชี้ให้เห็นข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เข้าใจว่าทำไมฝ่าย คสช.จะต้องเซนซิทีฟกับเรื่องนี้หนักหนาจนกลายมาเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่มีเหตุมีผลก็เลยหันมาให้ความสนใจจริงจัง
- ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับเต็มหรือตามเรื่องร่างรัฐธรรมนูญบ้างไหม
พยายามจะอ่านฉบับเต็มให้จบครับ แต่อาจเพราะเรามีสติปัญญาจำกัด หรือเพราะเราสมาธิไม่ยาวพอ เลยไม่สามารถจะอ่านจบได้ แต่ก็ไล่อ่านจากเว็บไซต์ที่เขาสรุปมานะครับ
- เท่าที่ได้อ่านหรือได้ฟังมามีความคิดเห็นหรือความรู้สึกกับมันอย่างไรบ้าง
ถามว่ารู้สึกยังไง ก็รู้สึกมีความสับสนและเคลือบแคลงในหลายประเด็นที่อ่านครับ ทั้งเรื่องที่มาของ สว. ความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจของคสช. กลายๆ กระทั่งการเลือกนายกฯ คนนอกในกรณีที่การลงเสียงของ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ลงตัว ไหนจะความสับสนในกฏการนับคะแนนแบบใหม่อีก แต่เหนือสิ่งอื่นใดร่างฉบับนี้มันไม่เวิร์คตั้งแต่ต้นเพราะคณะกรรมการร่างมันมาจากการออกแบบและแต่งตั้งโดย คสช. น่ะครับ
"รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือสำคัญในการรันระบอบประชาธิปไตยหากจะสร้างเครื่องมือชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่มันก็ต้องมาจากการรับฟังเสียงและความเห็นของประชาชนแต่คณะกรรมการร่างไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนี่สิ"
- ส่วนตัวแล้วมีจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร
โหวตโนครับ
- ประเด็นอะไรในร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้เราตัดสินใจแบบนั้น
หลายประเด็นครับ เรื่องแรกคือ สว.ชุดแรก 250 รายชื่อมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งเป็นเสียงที่มากพอจะคานอำนาจในสภามันสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามจะสืบทอดอำนาจของคสช. อยู่ ประเด็นนี้สำคัญนะครับ
ถ้าเกิดมีคนเถียงว่าจะอะไรกับการสืบทอดอำนาจของคสช. หนักหนา ก็อยากให้คุณมาดูสภาพปัจจุบันที่คสช.บริหารประเทศอยู่ เราวางใจจะฝากอนาคตกับเขาได้หรือ? นอกจากไม่ฟังเสียงประชาชนยังไม่พอ ยังใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิ์ ใช้เงินไม่เป็น เห็นอยู่ว่าเศรษฐกิจแย่ แทนที่จะเอาเงินไปอุ้มการเกษตร จัดการสวัสดิการ แต่เอาเงินไปสนับสนุนกองทัพ ช่วยกันปกปิดแผลพวกกันเอง นี่ยังไม่รวมร่างฉบับนี้ไม่มีข้อไหนที่แสดงออกถึงความพยายามในการปฏิรูปองค์กรตำรวจและองค์กรทหารที่เอาเข้าจริงก็มีปัญหาหมักหมมอยู่ไม่น้อยเลย เป็นร่างที่มองว่าฝ่ายฉ้อฉลคือฝ่ายพลเรือนและนักการเมืองอยู่ฝ่ายเดียวไม่เคยดูตัวเอง
เรื่องที่สองก็คือองค์กรอิสระที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากประชาชน แต่กลับมีอำนาจในการถอดถอนและควบคุมรัฐบาลได้ ผ่านระบบที่เขาเรียกว่า 'มาตรฐานทางจริยธรรม' ที่องค์กรอิสระทำงานคู่กับศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 219) ความน่าสนใจก็คือ
"รัฐธรรมนูญชุดนี้ถูกออกแบบให้เกลียดกลัวนักการเมืองเกินจริง จึงสร้างผู้ตรวจสอบอีกตัวมาคอยตรวจสอบและควบคุมอย่างเคร่งครัด แต่ประเด็นก็คือเราจะมั่นใจในความโปร่งใสของผู้ตรวจสอบตัวนั้นได้มากแค่ไหน"
แทนที่จะสร้างระบบให้ตรวจสอบกันและกันผ่านการจับตาของประชาชนอย่างรัดกุม แต่กลายเป็นว่าเป็นระบบที่ตรวจสอบอยู่แค่ทางเดียว และเสียงของประชาชนที่เลือกตัวแทนผ่านการเลือกตั้งก็ไม่เป็นผลอะไร ในเมื่อผู้ตรวจสอบที่ประชาชนไม่สามารถควบคุมได้ตัวนี้ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เช่นกัน
เหนือสิ่งอื่นใดคือข้อที่เรารู้กัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลเผด็จการทหาร มันเป็นแค่พิธีกรรมทางการเมืองพิธีหนึ่งของรัฐบาลเผด็จการ ถึงจะโหวตรับหรือไม่รับหรือจะไม่โหวต รัฐบาลชุดนี้ก็มีสิทธิ์จะหยิบใช้รัฐธรรมนูญชุดไหน หรือบังคับใช้ชุดที่เราโหวตไม่รับ (โดยแก้ไขบางส่วน) ได้อยู่แล้ว และที่น่าเกลียดกว่านั้นก็คือ ในเมื่อคุณต้องการจะให้ประชาชนทำประชามติ คุณเขียนรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการบริหารบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่คุณกลับไม่ยอมฟังเสียงของประชาชนตั้งแต่แรกเริ่ม พอร่างออกมาคนอ่านบางคนพบว่ามันไม่เวิร์ค จะวิพากษ์วิจารณ์ก็ใช้อำนาจไล่จับเขา ไม่เปิดให้มีการถกเถียง คุมเข้มไม่ให้มีการรณรงค์รับหรือไม่รับ (แต่ในทางกลับกัน ตัวเองก็ โฆษณาชวนเชื่อให้คนรับอย่างเห็นได้ชัด) ซ้ำคุณก็มีการเขียนร่างสกัดไว้ไม่ให้มีการแก้ไข (คือแก้ได้แต่แก้ยากมากๆ) มันดูจงใจเกินเหตุ ลองนึกสภาพเหมือนไจแอนท์ในการ์ตูนโดเรม่อนบังคับให้เพื่อนๆ ไปฟังเขาร้องเพลงใครไม่ยอมมาฟังก็ใช้กำลังบังคับให้มาฟังให้ได้ใครบอกว่าร้องไม่เพราะก็ไปไล่ต่อยเขา ประมาณนี้น่ะครับ
"เราจะยอมรับเครื่องมือที่นำไปสู่ประชาธิปไตยเครื่องมือนี้ได้ยังไงหากที่มาของมันยังไม่เป็นประชาธิปไตยเลย"
- ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านคิดว่าจะกระทบต่อเรามากน้อยขนาดไหน
ร่างจะผ่านหรือไม่ผ่าน คสช. ก็ยังคงรักษาอำนาจของเขาต่อไปครับ แต่ที่ยังคงยืนยันจะไปร่วมพิธีกรรมปาหี่นี่ของเขาก็เพราะแค่อยากแสดงให้เห็นว่าเราก็เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจเขา ไม่พอใจคนที่เที่ยวโทษคนอื่นว่าเป็นปัญหา แต่ไม่เคยส่องกระจกดูเลยว่าตัวเอง นั่นแหละที่เป็นปัญหา แต่ก็นั่นล่ะ คิดว่าถึงโหวตโนมากกว่า ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะตระหนักในข้อนี้หรือเปล่านะ