บทสัมภาษณ์ ศศิน เฉลิมลาภ : บรรยากาศประชามติจากฟากเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อม

ศศิน เฉลิมลาภ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดังที่คร่ำหวอดในวงการหลายสิบปี  ภายใต้วาทะ " ผมทำงานให้พี่สืบ"   เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นอกจากประเด็นทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ศศินโด่งดังเป็นที่รู้จักหลังเดินเท้า 300 กว่ากิโลเมตรประกาศเจตนารมณ์ต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในผืนป่าตะวันตก    ไม่กี่สัปดาห์ก่อนลงประชามติ 2559  เรามีโอกาสพูดคุยกับเขา ถึงบรรยากาศก่อนหยั่งเสียงลงคะแนนโหวต ตลอดจนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติที่กลุ่มคนทำงานเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมของเขาคิดเห็นอย่างไร 

รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ   2559 มีเนื้อหากระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไง ?

ผมโตมาว่า เราใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือแสดงสิทธิ เรียนรู้ผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นกลไกทางสิ่งแวดล้อมในยุคที่มีปัญหามากมาย และประชาชนร้องเรียกเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจนสิทธิชุมชน กลไกป้องกันผลกระทบชุนชนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้านิคมอุตสาหกรรม หรือทำลายทรัพยากรรูปแบบอื่นๆ เรียกรัฐธรรมนูญนี้ว่า รัฐธรรมนูญสีเขียว และปี 2540 มีหมุดหมายว่าชาวบ้านต้องร่วมอนุรักษ์ บำรุงรักษาและมีหน้าที่ปกป้องเรียกร้องให้องค์กรรัฐมาปกป้องสิทธิชุนชนผ่านกฎหมายลูกต่างๆ  แต่มันมาติดที่ “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”  เพราะคิดว่าจะมีการร่างกฎหมายลูกออกตามมา แต่ปรากฎว่าไม่มี

กระทั่งในรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดูดีขึ้น คือตัดคำว่า”ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”ออกไปหมด ดังนั้นมันก็ใช้สู้กัน ได้และประชาชนก็มีสิทธิยกรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้องในการฟ้องร้อง ส่วนในร่างปี 2559 กลับตาลปัตร รัฐธรรมนูญดูเหมือน ยังดูแลเรื่องพวกนี้อยู่แต่ให้เป็น 'หน้าที่ของรัฐ'  ไม่ได้ให้ในส่วนของประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องและมีหน้าที่ต้องดูแลสิทธิของตัวเอง มันก็กลายเป็นว่ารัฐตีความได้ว่า”ผมก็ทำแล้วไง” และ ”ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” 

กลับมาอีกครั้ง มันก็จะกลับไปเป็นปัญหาเหมือนปี 2540อีกเช่น จะปล่อยมลพิษผมก็ได้ทำตามเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น ดังนั้นจึงอาจไม่ได้ช่วยประชาชนแก้ปัญหา เพราะเป็นแค่อำนาจของรัฐที่จะทำหรือไม่ทำ ส่วนของประชาชนมันลดทอนลงไปอย่างชัดเจน 

ส่วนร่วมของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนเมื่อใช้รัฐธรรมนูญ 2559 ?

คิดว่า ลดลงไป แต่เดิมเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาลดลงไปหมดเหลือแค่ สิทธิในวัฒนธรรมประเพณีแต่เนื่องจากมีการเรียกร้อง "ผมตอบแบบแฟร์นะ มันหายไปแล้วแต่เราก็เรียกร้องจนเขาเอากลับมา ก็เห็นว่าเขาเอาสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อมกลับมาพอสมควรแต่ถามว่ารู้สึกยังไงเนี่ย ยังสู้ปี 2550ไม่ได้"  และยังลดทอนภาคประชาสังคมลง แต่ไปเพิ่มบทบาทของศาลแทน  คือลดการจัดการความขัดแย้งโดยการมีส่วนร่วม แต่ไปยุติความขัดแย้งด้วยการให้คนเข้าสู่กระบวนการศาล กระบวนการศาลไม่ใช่การจัดการความขัดแย้ง เพราะมันเป็นการให้ผู้มีอำนาจชี้ขาดไปทางใดทางหนึ่งตามกฎหมาย และใช้ระยะเวลายืดเยื้อยาวนาน และรากความขัดแย้งก็ยังดำรงอยู่

ทำไมถึงคิดว่าบรรยากาศไม่ชวนให้อ่านร่างฯ ?

เข้าใจว่า นอกจากเรื่องใครโกงไม่โกงมันมีปัญหาเรื่องความเข้าใจคนที่มาบริหารชาติบ้านเมืองโดยเฉพาะปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชนที่มีความซับซ้อนมากเมื่อโยงเรื่องการมีส่วนร่วม เราจะสังเกตได้ว่าที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540เริ่มกลไกว่า
"ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจและอยากทกำหนดให้นักการเมืองมาจากการเลือกตั้งและได้บรรจุพลังอำนาจของประชาชนลงไป แล้วช่วงนั้น  เรารู้สึกสนใจรัฐธรรมนูญเพราะมันมีที่มาชัดเจนว่ามีตัวแทนของจังหวัด ที่"ผมมีโอกาสเลือกตัวแทนจังหวัดเพื่อให้ตัวแทนจังหวัดไปเสนอและพอเสนอ ก็เอาเรื่องกลับมาประชุมในจังหวัด มันอาจจะทั่วถึงหรือไม่ผมไม่รู้แต่กลไกกระบวนการถ้าคุณอยากจะร่วมคุณก็มีช่องทางที่จะเดินเข้าไปและอธิบาย "

และสื่อมวลชนทุกช่องพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆเดี๋ยวนั้นเลย  แม้ผมไม่ได้อ่านแต่ผมก็ถูกบังคับให้ฟังเหมือนถูกให้ดูเกมโชว์ยังไงผมก็ต้องรู้ต้องเข้าใจ ผ่านบรรยากาศถกเถียงกัน  หาทางออกร่วมเพื่อที่จะเขียนให้ครอบคลุม ผมไม่รู้หรอกว่าพอออกมาคุณทักษิณจะเอารัฐธรรมนูญ2540 ไปใช้ยังไง แต่ผมรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มันเป็นเรื่องของผมด้วย ส่วนปัญหาที่เกิดจากการใช้ก็ว่ากันไป 

พอปี 2550 การมีส่วนร่วมไม่เข้มข้นเท่าก็เหมือนยุครัฐประหารปี 2559 แต่กระบวนการมีส่วนร่วม การถกเถียงไม่ได้ลดลงจากปี 2540 เลยแม้แต่บรรยากาศของการลงประชามติก็ไม่ลดลงแต่ปัญหาของปี 2550  คือมันเริ่มสงครามสีแล้วเลยใช้รัฐธรรมนูญแบ่งว่าใครอยู่ข้างไหน เป็นการแสดงออกว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแต่ไม่ได้เข้าไปสู่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนปี 2540 ที่ลงไปเพื่อเนื้อหามันดีหรือไม่ดี 

แต่ผมเชื่อว่าปี 2550 กลายเป็นว่ารับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง หรือไม่ต้องอ่านหรอกรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สำคัญกับเราเท่าไหร่แต่เราต้องมาแสดงออกให้เห็นว่าอยากให้ใครมาดูแลประเทศต่อด้วยวิธีไหน ซึ่งไม่เหมือนกับปี 2559  เป็นบรรยากาศของการขี้เกียจอ่าน ในใจผมมีอยู่แล้วว่า ผมจะอยู่ข้างไหน ผมก็ไปแสดงสิทธิเหมือนประชาชนธรรมดาแต่บรรยากาศมันไม่ชวนให้อ่าน เท่าปี 2550 พอผมมาเจออาจารย์มีชัยมาร่างรัฐธรรมนูญ ก็วนกลับไป ไปรับอำนาจแบบเดิมๆอีก ผมชินกับการที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงและมีความสนใจในเรื่องของส่วนรวม มาเกือบ 20 ปี มันก็ทำให้บรรยากาศของการติดตามรัฐธรรมนูญปี2559 ผมจึดูเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตราอื่นๆเค้าคิดว่าดีแล้วก็ลองๆปล่อยเค้าจัดการกันไปไม่มีอารมณ์ที่จะไปถกเถียงติดตาม มันไม่ใช่กระบวนการหรือช่องทางให้ไปมีส่วนร่วม ซึ่งปัจจุบันผมก็ยังไม่เห็น

เอกสารจาก กกต.ได้ยัง ? 

ไม่ได้ ไม่มีคนมาแจก นี่ก็จะวันที่ 7 แล้ว อาทิตย์หน้าผมก็ไม่อยู่บ้าน ไม่มีทางใครจะไปอ่าน

จะไปออกเสียงไหม ?
 
จนถึงตอนนี้ยังคิดหนัก มันไม่น่าไป เสียงของผมมีใครฟังเรื่องที่ผมไม่เห็นด้วยบ้าง เขาจะสนใจแค่คุณไม่ลงประชามติ หรือผมจะไปลงประชามติจะมีใครฟังเหตุผลของผมบ้าง มันก็กลายเป็นว่าผมก็จะถูกผลักเป็นอีกฝ่ายหนึ่งทันที ผมเน้นเรื่องที่มาและบรรยากาศที่รัฐบาลทำมันไม่ชวนให้ไปลงประชามติ แม้แต่ที่อีก'ฝ่ายหนึ่ง'ทำก็ตาม และมันก็สายไปแล้วที่จะปรับปรุงบรรยากาศ การมีส่วนร่วมมันต้องเริ่มจากให้ข้อมูลข่าวสาร รับฟังความคิดเห็น แล้วเปิดให้ปรึกษาหารือ และสุดท้ายก็มาทำอะไรร่วมกันจนนำไปสู่ลงคะแนนประชามติอะไรก็ว่าไป ซึ่งการให้ข้อมูลก็ปิดกั้นจนถึงวันนี้ผมยังไม่ได้ร่างเลย การรับฟังและเวทีอธิบายถกเถียงดีเบตก็ไม่เปิดให้วิพากษ์วิจารณ์ ในเวทีสาธารณะ 

จากคนที่ต้องใช้รัฐธรรมนูญอย่างนักการเมืองหรือคนที่คิดต่าง ผมก็ไม่รับข้อมูล เวทีรับฟังความเห็นก็จัดเป็นแบบพิธีการบรรยากาศมันก็ไม่รู้ว่ารับฟังไปแล้วจะยังไง มันต่างกับครั้งก่อนๆมาก ซึ่งไม่ทันแล้ว ปัจจุบันมันไม่ใช่เพราะไม่ได้ออกแบบมาให้มันมีส่วนร่วม คุณอาจจะใช้รัฐธรรมนูญเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง เพราะสิ่งที่เห็นด้วยกันก็หยิบเข้ามา จะได้ลดความขัดแย้งลงได้ ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันอาจจะเป็นการเติมความขัดแย้งเข้าไปด้วยหรือเปล่า ?  

ถ้าร่างนี้ผ่านนักสิ่งแวดล้อมจะทำยังไง ?

คือตอนแรกเค้าตัดเรื่องสิ่งแวดล้อมไปเยอะและผมก็ไปท้วงเขาทำหนังสือไปอย่างเป็นทางการคุยกันเป็นทางการ เขาก็เติมกลับมาให้แล้วแต่ไม่ถูกใจ100เปอร์เซนต์ แต่มันก็กลับมาเกินครึ่ง ก็เห็นว่าเขาก็รับฟังเราบ้างแล้ว  ผมไม่กังวลนะว่าเครื่องมือเราอาจจะหายไปแต่พลังเราไม่ได้หายไป พลังของประชาชนทางสิ่งแวดล้อมตื่นตัวมานานแล้ว ซึ่งกระจายไปที่ชาวบ้านแล้ว และได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้มาอย่างเข้มข้น และชาวบ้านไม่กลัวรัฐหรอก

แล้วคำถามพ่วงละ ได้อ่านไหม ?

ไม่ได้อ่าน แต่ผมสนใจคือเรื่องมาตรา 44  และคำสั่งต่างๆที่ผมไม่เห็นด้วย ผมไม่อยากให้รัฐบาลใช้มาตรานี้แม้เค้าจะมีอำนาจ  แต่มันจะทำลายนิติรัฐหรือเปล่า  ในฐานะกลไกเรียกร้องให้บางสิ่งกลับมาเกินครึ่ง ผมถือว่าผู้ร่างรับฟังเรา แต่อาจจะเห็นต่างในเชิงกระบวนการผมก็ต้องรับในแง่เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมนะ ในแง่อื่นๆยังไม่ได้อ่าน