สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาเทียบร่างรัฐธรรมนูญนี้กับรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 พบว่า สิทธิที่คนพิการได้รับนั้นล้าหลังและแย่ลงกว่าเดิมมาก เหตุเพราะเปลี่ยนจากฐานสิทธิที่คนพิการพึงมีเป็นฐานสังคมสงเคราะห์โดยรัฐ
เขากล่าวว่า แต่เดิมในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาตรา 54 ระบุถึงบุคคลพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ ซึ่งหายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งที่มาตรานี้เป็นมาตราที่นำไปสู่การกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายรองต่างๆ เช่น มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2550 ฯลฯ
ในแง่สาธารณะสุข สุภรธรรมได้แสดงความกังวลต่อมาตรา 47 ในร่างรัฐธรรมนูญที่บางส่วนระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งส่วนนี้ถูกเขียนไว้อย่างลอยๆ โดยไม่มีการให้รายละเอียดของคุณภาพหรือค่าใช้จ่าย ฉะนั้น หากคนพิการได้รับบริการฟรีตามสิทธิของบัตรประจำตัวคนพิการย่อมแสดงว่าคนพิการนั้นๆ เป็นบุคคลผู้ยากไร้หรือไม่
อีกทั้งในด้านการศึกษา เขาตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยรัฐต้องให้การช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่กลับไม่มีประเด็นที่พูดถึงคนพิการ ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีการระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษา ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ หรือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษาต้องได้รับสิทธิตามวรรค 1 และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้การศึกษาโดยทัดเทียมกับผู้อื่นอย่างชัดเจน
"หากคนพิการได้รับบริการฟรีตามสิทธิของบัตรประจำตัวคนพิการย่อมแสดงว่าคนพิการนั้นๆ เป็นบุคคลผู้ยากไร้หรือไม่"
“ในเรื่องสาธารณูประโภคและบริการสาธารณะต่างๆ ก็ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าคนพิการต้องเข้าถึงได้ แต่กลับพูดให้ดูคลุมเครือ อย่างรัฐต้องดูแล ไม่เรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ซึ่งส่วนนี้ต่อให้ตีความเท่าไหร่ ก็ตีไม่แตกว่าอะไรคือภาระแก่ประชาชนเกินสมควร มันคลุมเครือมาก” เขากล่าว
นอกจากนี้ เขายังเสริมด้วยว่า ประเด็นเรื่องคนพิการกับการใช้บริการสาธารณะนั้นหายไปโดยสิ้นเชิง แต่กลับมีการพูดถึงผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงสะท้อนเรื่องคนพิการ แต่สะท้อนมุมมองของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีต่อเรื่องสิทธิของประชาชน โดยพยายามเปลี่ยนจากสิทธิคนพิการไปเป็นการใช้คำว่า ‘หน้าที่รัฐ’ ซึ่งส่วนนี้เป็นข้อแตกต่างและเป็นเหตุผลที่เขาตัดสินใจจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ล้าหลังลง สุภรธรรมได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะคนที่ยกร่างมีมุมมองเชิงสงเคราะห์ ไม่ว่าจะไปดูภูมิหลังของคนร่างแต่ละคนหรือประธานยกร่าง ก็มีมุมมองต่อประชาชนที่ต่างออกไป
หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติ สุภรธรรมคิดว่า ในแง่ของขบวนการภาคประชาสังคมและคนพิการจะต้องทำงานหนักขึ้นในการเข้าไปใช้อำนาจตามกลไกที่มีอยู่น้อยนิด เพื่อทำให้ประเด็นเรื่องคนพิการเป็นที่ประจักษ์ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา งานคนพิการในไทยค่อยๆ เกิดขึ้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลังจากอยู่ภาคใต้แนวคิดสงเคราะห์ของรัฐที่มีข้าราชการเป็นฝ่ายกุมอำนาจในการปกครองประเทศ เมื่ออำนาจเริ่มเปลี่ยนมือจากฝ่ายข้าราชการและทหาร ประชาชนก็เข้ามามีบทบาทผ่านทาง ส.ส. กฎหมายเกี่ยวกับคนพิการจึงเริ่มบังคับใช้ในปี 2534 และผลักดันเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ในปี 2550
“รัฐธรรมนูญ ปี 40 เกิดจากการมีส่วนร่วม การมีสิทธิและเสียงของประชาชนที่ได้สะท้อนกลับขึ้นไป มีผู้แทนเข้าไปยกร่างด้วยตัวเอง มีกระบวนการในการออกมาเป็นกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น รัฐธรรมนูญปี 50 คือมรดกจากปี 40 ที่ประชาชนชาวไทยมอบให้ จนกระทั่งถูกปล้นไปและเอาใครไม่รู้มาเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นตามอำเภอใจ จึงเป็นประเด็นว่าทำไมร่างฉบับนี้จึงคิดบนฐานการสงเคราะห์” สุภรธรรมกล่าว