ดิอิโคโนมิสต์เขียนบทความวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดว่า ขณะที่มีการอ้างไม่ให้เกิด "เผด็จการรัฐสภา" แต่ก็มีการให้อำนาจองค์กรอิสระและวุฒิสภาอย่างล้นเกินเสมือนการ "เร่ขาย" เผด็จการแบบอื่นเข้ามาแทน โดยให้องค์กรเหล่านี้ทำตัวเหมือน "พี่เลี้ยงเด็ก" สำหรับนักการเมือง
25 เม.ย. 2558 นิตยสารดิอิโคโนมิสต์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการอภิปราย โดยระบุว่ารัฐธรรมนูญที่อ้างว่าได้รับอิทธิพลจากระบบการเลือกตั้งของเยอรมนีจะไม่สามารถรักษา "บาดแผลทางการเมือง" ของประเทศไทยได้ แต่จะยิ่งทำให้แย่ลงกว่าเดิม
ดิอิโคโนมิสต์มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการพยายามกีดกันพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ฝ่ายผู้มีอำนาจสถาปนาไม่ชอบ โดยมีการส่งเสริมระบบ ส.ส. แบบสัดส่วน ทำให้พรรคการเมืองใดก็ตามเอาชนะเสียงข้างมากได้ยาก บีบให้ต้องมีการจัดรัฐบาลผสมและเปิดโอกาสให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้า ส.ส. ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ อีกทั้งยังให้อำนาจวุฒิสภาครอบงำสภาล่างและมีการลดจำนวนส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งลง
ดิอิโคโนมิสต์วิจารณ์อีกว่ายังมีองค์กรอิสระอีกจำนวน 10 องค์กรหรือมากกว่านั้นที่คอยทำตัวเป็น "พี่เลี้ยงเด็ก" ของนักการเมือง รวมถึง 'สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ' ที่อ้างว่าเพื่อใช้ลงโทษ "การทำผิดจริยธรรม" ดิอิโคโนมิสต์ชี้ว่าคำว่า "การทำผิดจริยธรรม" นี้เองมักจะเป็นคำกล่าวอ้างที่นำมาใช้อ้างกับทุกอย่างรวมถึงใช้อ้างตอบโต้คนวิจารณ์รัฐบาลด้วย นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระที่มีพรรคพวกของเผด็จการทหารซ่องสุมกับอยู่เพื่อคอยใช้อำนาจชักจูงรัฐบาลในอนาคต
"ผู้ทำหน้าที่รัฐธรรมนูญใหม่อ้างว่าพวกเขาต้องการป้องกันไม่ให้เกิด 'เผด็จการรัฐสภา' แต่พวกเขาก็ 'เร่ขาย' เผด็จการในรูปแบบอื่นแทน" ดิอิโคโนมิสต์ระบุในบทความ
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นฉบับที่ 20 ของไทย แต่ดิอิโคโนมิสต์ก็วิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังอย่างมากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญสมัยปี 2540 เนื่องจากมีโอกาสให้อำนาจกับกองทัพยาวนานมาก มีวรรคหนึ่งซึ่งจำกัดอำนาจราชวงศ์ในการแทรกแซงความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งดิอิโคโนมิสต์มองว่าอาจเป็นเพราะเกรงว่าจะเป็นการอ่อนข้อให้กับศัตรูของพวกกลุ่มผู้มีอำนาจสถาปนา
ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าในช่วงที่ยังรอการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีแม้ว่ากองทัพจะยอมลดข้อเสนอที่เลวร้ายบางอย่างลงเนื่องจากถูกวิจารณ์จากประชาชนแต่กองทัพก็มีท่าทางเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เผชิญปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
ที่มา: ประชาไท