กางอ่าน รธน. การเมือง ร้อน คสช.ส่งซิก...เออร์เรอร์

ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1430048740

 

เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เพื่อรับฟังความคิดเห็นและนำไปพิจารณาปรับแก้

การพิจารณาดำเนินตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนถึงวันที่ 26 เมษายนนี้

การเปิดเผยเนื้อหาของตัวร่างทำให้การแสดงความคิดเห็นจากบุคคลหรือองค์กรนอกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีความแจ่มชัดในเนื้อหา

แจ่มชัดทั้งการสนับสนุน และแจ่มชัดทั้งการคัดค้าน

เพียงแต่ตลอด 7 วันที่ผ่านมา เสียงคัดค้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ดังกระหึ่มติดต่อกันหลายวัน

เสียงที่คัดค้านมาทั้ง สปช.ที่ทำหน้าที่อภิปราย โดยเฉพาะ สปช.ที่เป็นคณะกรรมาธิการการเมืองนั้นสลับกันขึ้นคัดค้านเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว. และระบบเลือกตั้งอย่างมาก

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เสนอให้เลือกตั้งนายกฯโดยตรง แสดงความเป็นห่วงมาตรา 182 ซึ่งให้อำนาจนายกฯ และมองว่ารัฐธรรมนูญบางมาตราไม่ได้ทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ตามเจตนาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ

นายวันชัย สอนศิริ ลุกขึ้นคัดค้านที่มา ส.ว. ที่มีถึง 3 แบบ คือ เลือกตั้ง สรรหา และแต่งตั้ง โดยนายวันชัยเสนอให้ลองใช้วิธีสรรหา แล้วไปตัดอำนาจ ส.ว.ในเรื่องอื่นๆ เช่น กลั่นกรองรัฐมนตรี การเสนอกฎหมาย เป็นต้น

นายชัย ชิดชอบ ลุกขึ้นอภิปรายเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง และไม่เห็นด้วยกับการมีกลุ่มการเมือง

ภายนอกสภามีความเคลื่อนไหวของคณะผู้พิพากษาที่รวมตัวกันแถลงข่าวเสนอความคิดเห็น 7 ข้อที่แย้งกับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพราะเกรงว่าการเมืองจะเข้าไปล้วงลูกศาล ข้อปฏิบัติไม่เป็นไปตามสากล และอื่นๆ

ยังมีสมาคมพนักงานสอบสวนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านบทบัญญัติที่ให้ปฏิรูปตำรวจ โดยระบุถึงการแยกงานสอบสวนเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอาจกระทบกับงาน

การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กับผู้ตรวจการแห่งรัฐสภา ที่ทั้งผู้ตรวจการรัฐสภาและกรรมการสิทธิฯยังคัดค้าน

รวมไปถึงองค์กรอิสระอื่นๆ ที่เคยมีปัญหา 

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า มีข้อเสนอบางประการที่อยากให้องค์กรอิสระเหลือเพียง 2-3 องค์กรเท่านั้น

เสียงคัดค้านที่ดังขึ้นจากรอบทิศ โดยดังมาตั้งแต่วันแรกในการอภิปรายรัฐธรรมนูญ และมาประจวบเหมาะกับคำสั่งเรียกไปให้ขอคำปรึกษาต่อคดีที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีตัวแทนฝ่ายการเมือง ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ภาคมวลชนอย่าง นปช. นักวิชาการ และสื่อมวลชน 

แม้หัวข้อการหารือคือ "ปรองดอง" แต่เมื่อการเสนอความคิดเห็นดำเนินการไปสักพัก หัวข้อเรื่องรัฐธรรมนูญกลับดังกระหึ่ม

ในการประชุมทุกฝ่ายต่างส่งเสียงออกไปในทำนองเดียวกัน

นั่นคือความห่วงใย ไม่เห็นด้วย และเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์บานปลาย

กระทั่้งสุดท้ายมีข้อเสนอร่วมกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ น่าจะจัดทำประชามติก่อนใช้ เพื่อให้ประชาชนแสดงเจตนา

ขณะเดียวกันก็เป็น "ทางลง" ถ้ารัฐธรรมนูญไปไม่ไหว

จังหวะนี้บังเกิดกระแสข่าวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ว่า รับไม่ได้กับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาอยู่หลายจุดเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เคยสรุปกันแล้วอย่างคุณสมบัติ ส.ส. วุฒิฯ และรัฐมนตรี 

เคยสรุปกันว่า จะไม่ห้ามอดีตนักการเมืองที่เคยถูกสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงเล่นการเมือง หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่ห้ามนักการเมืองในบ้านเลขที่ 111 บ้านเลขที่ 109 และอื่นๆ ที่รับโทษโดนถอดถอน หรือห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองกลับคืนสู่สังเวียนการเมือง

แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 111 (15) กลับบัญญัติห้ามผู้ที่เคยถูกถอดถอน หรือเคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็น ส.ส. ส.ว. รมต. หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การตัดสิทธิดังกล่าวย่อมกระทบกับบุคลากรที่ คสช. เตรียมจะใช้หากมีการ "สืบทอดอำนาจ"

แต่หากรัฐธรรมนูญไม่อนุญาต เหมือนกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2553 ไม่อนุญาต ย่อมทำให้รัฐบาลต่อไปหรือหน่วยงานขาดตัวเลือกสำคัญในการปฏิบัติงานไป 

ขาดบุคลากรที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

เท่ากับว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณากันอยู่ใน สปช. เข้าสู่โค้งอันตราย

เป็นโค้งที่ล่อแหลมอย่างยิ่ง 

หากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ "ไม่เป็นสากล" รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตอบนานาชาติว่าอย่างไร

แล้วหากรัฐบาลชุดต่อไปมีบุคลากรของ คสช.ไปยืนเด่นเป็นสง่าในฐานะนายกรัฐมนตรี แล้วจะใช้ใครเป็นคนทำงานการเมือง เพราะบรรดาผู้เชี่ยวชาญการเมืองต่างเคยต้องคำตัดสิทธิทางการเมืองมาก่อนเป็นทิวแถว

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยังไม่ได้ใช้นี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต

และจากความเคลื่อนไหวล่าสุด พบว่ามีแนวโน้มสูงมากที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯต้องแก้ไข 

อาจถึงเวลาที่ คสช.ต้องเอื้อมมือมาช่วยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพราะความเคลื่อนไหวตลอดสัปดาห์ ตอกย้ำให้เห็น "ต้นทุนทางสังคม" ของหลายคนในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ

ตอกย้ำว่าต้นทุนทางสังคมยังไม่เพียงพอกับการขับเคลื่อนเรื่องใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญ

แต่สำหรับ คสช. ซึ่งมีอำนาจเต็มในปัจจุบัน ย่อมต้องมีวิธีการ "เล่น" 

"เล่น" เพื่อแก้ไข "เล่น" เพื่ออยู่ต่อ

ตอนนี้แม้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะยังอยู่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ แต่ดูเหมือนว่า คสช.จะเริ่มจับสัญญาณอะไรบางอย่างได้

สัญญาณนี้บ่งบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ต้องมีสิ่งผิดปกติอะไรสักอย่างเป็นแน่ 

ถึงได้ทำให้อุณหภูมิการเมืองพุ่งสูงปรี๊ดขึ้นมาทันที หลังจากแต่ละฝ่ายได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญ

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2558