นายพลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "มติชน" ถึงโครงสร้างของ พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พร้อมเปิดเผยที่มาและการสรรหา รวมถึงคุณสมบัติของคณะมนตรีและกรรมการของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
สิ่งที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะดำเนินการมีอะไร เป็นอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ประเทศไทยเราขาดคืออำนาจทางสังคม คืออำนาจของความดี ความรู้ ความจริง คุณธรรม ความถูกต้อง หรืออำนาจบาตรอ่อน และอำนาจนี้จะมีพลังอำนาจ ซึ่งความจริงต้องทำให้สังคมรู้ทันและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยผลักดันให้คนที่มีอำนาจตามปกติทำตามหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เพราะฉะนั้นการมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะเป็นการเสริมตัวที่ไปต้านพลังอำนาจบาตรแข็ง ซึ่งสมัชชานี้จะหนุนพลังบาตรแข็งที่มีอยู่เดิม
พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่ สปช.กำลังจะพิจารณาเป็นกฎหมายลูก สอดรับกับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดหรือไม่
ยังไม่ใช่กฎหมายลูกแต่เป็นกฎหมายต่างหาก ซึ่งระหว่างนี้ก็ทำคู่กันไป ทาง กมธ.ยกร่างฯก็กำลังร่างรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญออกใช้เดือนกันยายน แต่ พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินี่คือกฎหมาย ซึ่งจะออกก่อนไม่เกินสามเดือนนี้ เพราะฉะนั้นมันจะเป็นองค์กรอิสระตาม พ.ร.บ. ยังไม่ใช่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ในอนาคตเมื่อมีรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว องค์กรนี้ก็จะเป็นองค์กรอิสระที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติ เพราะทาง กมธ.ยกร่างฯเขาเตรียมบรรจุทางนี้รอไว้แล้ว แต่ พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายออกตามปกติเลยไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และเหตุผลที่ออกกฎหมายนี้ก่อน เนื่องจากเราต้องเตรียมความพร้อมของสังคมก่อนมีการเลือกตั้งในอนาคต
หน้าที่หลักที่สำคัญของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีอะไรบ้าง มีวิธีการในการดำเนินการอย่างไร
1.จะมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมของบุคคลสาธารณะ แล้วต้องเป็นบุคคลสาธารณะที่ใช้อำนาจรัฐ เช่น ดารามีชื่อเสียง เป็นบุคคลสาธารณะก็จริงแต่เขาไม่ใช่บุคคลสาธารณะที่ใช้อำนาจรัฐ พวกนี้ก็คือนักการเมืองที่เข้ามาเป็น ส.ส. ส.ว. และรัฐบาล รวมถึงข้าราชการระดับสูงที่เป็นระดับปลัดกระทรวง
2.กำหนดมาตรฐานธรรมาภิบาลขององค์กรสาธารณประโยชน์ หน่วยงานรัฐทุกหน่วย เช่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นต้องมีมาตรฐานธรรมาภิบาล โดยกำหนดว่าต้องทำแบบไหน อย่างไร
3.องค์กรธุรกิจเอกชนที่เซ็นสัญญาทำธุรกรรมกับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการทำสัมปทานหรือการร่วมทุนทางธุรกิจ เราโฟกัสเท่านี้ อย่างอื่นเราไม่เกี่ยว เมื่อกำหนดแล้วก็ติดตามดูแล ถ้าหากองค์กรสาธารณะ บุคคลสาธารณะ และองค์กรธุรกิจที่มาทำธุรกรรมกับรัฐผิดไปจากมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมที่กำหนด ถ้ามีคนร้องมา แจ้งมา สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติต้องไปตรวจทานหรือไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ว่าเขาผิดธรรมาภิบาลจริงหรือไม่
หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงหมดแล้วจะนำเข้ามาสู่ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมซึ่งมี 55 คน ที่ประชุมจะวินิจฉัยเปรียบเหมือนสภาน้อยๆ เพื่อตรวจสอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แล้วก็โหวตเลยว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ผลการตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดจะนำไปเผยแพร่สู่สาธารณชน การวินิจฉัยคือการตัดสินของสภาสมัชชาคุณธรรม สภานี้ก็มีหน้าที่อำนาจแบบอ่อน แต่ทันทีที่มีผลสรุปจะทำเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่หนึ่งคือการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน พอเปิดเผยแล้วประวัตินี้จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
ทำแบบนี้เหมือนเป็นการยื่นดาบให้คณะกรรมการฟันนักการเมืองหรือไม่
เป็นเพียงข้อมูลไม่ได้ยื่นดาบให้ใคร แต่เป็นจุดตั้งต้นของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เป็นสิ่งตั้งต้นที่เรียกว่าโซเซียลเซ็กชั่น คือการกดดันโดยใช้พลังทางสังคม ไม่ได้เอาเขาเข้าคุก แต่มันจะเป็นตราบาปและเป็นมลทินไปตลอด และจากนั้นเราก็ส่งให้กับ ป.ป.ช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือองค์กรอิสระ พิจารณาเองว่าจะไปดำเนินการต่ออย่างไร เราเป็นแค่จุดเริ่มต้นของข้อมูล ความรู้ และความจริง
การทำงานจะไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานของ ป.ป.ช.และ กกต. ที่เขาทำหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้วหรือไม่
ไม่ทำซ้ำครับ แต่ถามว่าทำไมต้องมีแบบนี้ ทั้งที่เราองค์กร ป.ป.ช.ที่มีอยู่แล้ว เพราะองค์กรเหล่านั้นเขาเป็นอำนาจบาตรแข็ง จะเอาผิดได้ก็ต้องทำผิดทางกฎหมาย โดยที่ทางกฎหมายจะมีหลักฐานชัดเจนเอาผิดได้เลย แต่ถ้าไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม มันอยู่ในช่วงสีเทาๆ ตรงนี้องค์กรที่มีอำนาจแบบเข็งจะล้วงไปไม่ถูก แล้วนักการเมืองที่อยู่ในช่วงสีเทาๆ ก็จะระวังตัวไม่ให้ทางองค์กรอำนาจแข็งคว้าได้ ก็รอดตัวไปตลอด ทำความเสียหายให้แก่บ้านเมืองได้ตลอด ดังนั้น เราจึงต้องการอำนาจแบบอ่อนขึ้นมาดูแลตรงนี้ เพราะฉะนั้นการทำงานจะไม่ซ้ำซ้อน แต่จะหนุนเสริมด้วยซ้ำ และสมัชชาคุณธรรมจะทำงานกับองค์กรที่พิทักษ์คุณธรรมอยู่แล้ว ต้องผนึกกำลังและทำงานร่วมกัน พวกวิชาชีพต่างๆ 48 วิชาชีพ ที่เรียกว่าจรรยาบรรณ และทำงานคู่ขนานกันไปในอนาคต ไม่ใช่เกิดขึ้นมาเพื่อแทนคนอื่น แต่เป็นการเติมเต็มจุดโหว่ที่ขาดอยู่
สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีโครงสร้างอย่างไร
ส่วนที่ 1.เป็นเหมือนองค์กรนำ เป็นบุคคลต้นแบบของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เรียกว่าคณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มี 5 คน คือมีสถานะอีกแบบที่สูงกว่ากรรมการหรือกรรมาธิการ มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยถูกผิด ทำหน้าที่กึ่งตุลาการ พระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และทำการโหวตผ่านสภา 2.มีสมาชิกอย่างน้อย 55 คน 3.เวทีสัมมนาสมัชชาคุณธรรมประชุมทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งตรงนี้ก็ยังคงมีอยู่ เพราะทำหน้าที่ถักทอบุคคลต้นแบบทั่วประเทศระดับชาติ ระดับจังหวัด และอาจจะจัดในระดับนานาชาติ และ 4.ตัวสำนักงาน จะต้องมีออฟฟิศซึ่งในตัวออฟฟิศนี้จะยุบจากศูนย์คุณธรรม ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐอยู่แล้วเรียกว่า องค์การมหาชนและอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม โดยจะยุบพระราชกฤษฎีกาตรงนั้น อีกทั้งจะมีเลขาธิการเป็นซีอีโอหรือหัวหน้าสำนักงาน มีคณะกรรมการ 9-10 คน เพื่อดำเนินการในออฟฟิศให้เกิดระบบธรรมภิบาลภายใน
จะมีมาตรการอย่างไรในการตรวจสอบถ่วงดุลกรรมการทั้ง 55 คน
สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งในกฎหมายให้ดุลอำนาจกันในการเปิดเผยโดยกฎหมายคุ้มครอง คืออำนาจหน้าที่ของกฎหมายให้เขาเปิดเผยได้ เพราะการเปิดเผยก็ทำตามกรอบกฎหมาย หากในกรณีที่มีการเปิดเผยไปแล้ว คุณสามารถโต้แย้งได้และสามารถร้องกลับได้ หรือแม้กระทั่งสมัชชาคุณธรรม รัฐมนตรีกระทำผิดคุณธรรมเองก็สามารถร้องได้ โดยสามารถฟ้องร้องกับสมัชชาคุณธรรมได้ หรือร้องกับสื่อมวลชน ซึ่งบุคคลทั้ง 55 คนนั้นจะต้องมีมาตรฐานที่สูงมากและอ่อนไหวมาก
คณะมนตรี 5 คน มีที่มาอย่างไร
ทั้ง 5 คน เริ่มต้นจากการกำหนดคุณสมบัติหลักๆ
1.ต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิปัญญา เป็นที่ประจักษ์ของสังคม
2.ต้องเป็นผู้ที่มีผลงานและมีจริยวัตรในการดำเนินชีวิตเป็นที่ประจักษ์ของสังคม
3.ต้องเป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีประวัติที่แสวงความเห็นแก่ตัว และ
4.เป็นบุคคลที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่เหมาะสม โดยไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ต้องมีความเหมาะสมสำหรับการสรรหาตามคุณสมบัติ
โดยมีวิธีการสรรหาที่แตกต่างไปจากการสรรหาในรูปแบบอื่นๆ เช่น กกต. และ ป.ป.ช. ซึ่งองค์กรดังกล่าวจะใช่วิธีการรับสมัคร แต่ของสมัชชาคุณธรรมจะไม่ให้มีการสมัคร เพราะมองว่าบุคคลที่มีคุณธรรมจริงๆ นั้นไม่อยากได้อยากมี และมองว่าหากเลือกใช้วิธีการสมัครจะได้คนที่อยากได้ จะไม่ได้คนที่ควรจะเป็นและน่าจะเป็น ฉะนั้น จะเลือกใช้วิธีแมวมองในการทาบทาม
บุคคลที่เป็นคนสรรหา ประกอบไปด้วย 11 คน 2 คนแรกนั้นมาจากตุลาการและศาลฎีกา อีก 3 คน มาการฝ่ายการเมืองคือ นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนฯ และอีก 3 คน มาจากฝ่ายประชาสังคม ประกอบด้วย อธิการบดีแห่งประเทศไทย นายกสมาคมพลเรือนแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนา (เอ็นจีโอ) อีก 3 คน มาจากภาคธุรกิจด้านประชาสังคม ประกอบด้วย ประธานสภาหอการค้า ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 11 คน
จากนั้นทั้ง 11 คน จะต้องประชุมหารือกันเพื่อไปหาแมวมองหรือบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวโดยการทาบทาม เพื่อให้ได้มาทั้งสิ้น 5 คน โดยที่เจ้าตัวนั้นยินดี คุณสมบัติเหมาะสม และทั้ง 11 คน เห็นด้วย เมื่อได้มาซึ่ง 5 คนแล้ว จากนั้นจะส่งให้ ส.ว.ไปตรวจสอบ และใช้วิธีการโหวตเพื่อให้เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบก็จะดำเนินการสรรหาขึ้นมาแทนจนได้ครบ จากนั้นให้นำขึ้นทูลเกล้าฯแต่งตั้ง และทำหน้าที่ต่อไป
สมาชิกอีก 55 คน มาจากไหน
จะเปิดฐานกว้างโดยการสมัครแต่ไม่ใช่สมัครด้วยตัวบุคคล แต่จะต้องเป็นตัวองค์กรส่งชื่อมา ซึ่งองค์กรที่จะสามารถส่งชื่อมาได้นั้นก็จะต้องมีมติจากตัวกรรมการเป็นคนส่ง โดยคุณสมบัติของทั้ง 55 คนนั้นจะมีคุณสมบัติที่น้อยลง 1.เป็นผู้ทรงภูมิปัญญาที่มาจากหลากหลายอาชีพ จากสภาวิชาชีพที่หลากหลาย อาทิ หมอ ศิลปิน และนักธุรกิจ 2.เคยได้รับการยกย่องจากองค์กรด้านคุณธรรม จริยธรรม ในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ และ 3.ต้องไม่มีประวัติเสียหายในเรื่องของผลประโยชน์ซับซ้อน โดยองค์กรที่จะสามารถส่งชื่อได้มี 7 ประเภท ดังนี้
1.องค์กรหรือสภาวิชาชีพเฉพาะทุกประเภทที่มีอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้มีองค์กรที่กำหนดคุณธรรมวิชาชีพอยู่ 48 องค์กร
2.องค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของรัฐทุกประเภท
3.องค์กรตรวจสอบและองค์กรการใช้อำนาจรัฐทุกประเภท
4.องค์กรที่เป็นสาธารณประโยชน์ นิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ และ
5.ที่ประชุมระดับจังหวัดสภาองค์กรชุมชน ที่ประชุมสามารถมีมติส่งเข้ามาได้ แต่บุคคลเหล่านี้ต้องยินยอมพร้อมใจด้วยและต้องเปิดเผยข้อมูลนิติบุคคลสู่สาธารณะด้วย
ทั้งนี้ องค์กรดังกล่าวสามารถเสนอบุคคลมาได้ไม่เกิน 2 คน สมมุติว่ามีคนส่งเข้ามา 1,700 คน ทางคณะมนตรี 5 คนนั้นจะจัดตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมา 1 คณะ มาทำหน้าที่กลั่นกรองบุคคลที่สมัครเข้ามา 1,700 คน และกลั่นกรองให้เหลือ 2 เท่า คือ 150 คน จาก 1,700 คน กรรมการทั้ง 11 คนจะทำหน้าที่กลั่นกรองให้เหลือ 120 คน แล้วส่ง 120 คน ให้คณะมนตรี และคณะมนตรี 5 คน จะเป็นคนเลือกเอง โดยเลือกมา 55 คน และบุคคลที่ไม่ถูกเลือกสามารถมาแทนที่บุคคลที่ถูกถอดออกไป กรณีที่ผู้ถูกเลือกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ที่มา : มติชนออนไลน์