แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ง่ายซะที่ไหน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนออกมาดีหรือไม่แค่ไหน แต่หากเปิดทางให้แก้ไขได้ก็ยังพอมีความหวังที่จะปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นหรือเข้ากับสภาพสังคม เศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติความชอบธรรม เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ดังนั้น ถ้าเงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ยุ่งยากจนเกินไป อาจจะช่วยลดปัญหาจากกระบวนการร่างได้
 
ทั้งนี้ เรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลยคือ การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ส่วนประเด็นอื่นนั้น ก็มีเงื่อนไขความยากง่ายที่แตกต่างกัน เช่น ต้องลงประชามติก่อน เป็นต้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ ได้แก่ เสียงของ ส.ว. และพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
 
ใครสามารถขอให้แก้ไขได้บ้าง?
 
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดว่าผู้ที่มีสิทธิขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แก่
-คณะรัฐมนตรี
-สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส.
-สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา
-ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกัน
 
โดยการพิจารณานั้น ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่
 
วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.
 
วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
 
วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
 
  
 
เพิ่มเงื่อนไข ต้องได้เสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 และพรรคการเมืองร้อยละ 20
 
ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ยิ่งพบว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเป็นไปได้ยากกว่าเดิมมาก เพราะฉบับ 2540 2550 ใช้เสียงข้างมากธรรมดา และไม่มีการแบ่งแยก ส.ส. ส.ว. โดยกำหนดคล้ายกันว่า
 
วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ส่วนวาระที่ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
 
ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนจะได้ลงประชามตินี้ กลับกำหนดตั้งแต่วาระแรกเลยว่า นอกจากจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาแล้ว ยังต้องมี ส.ว. เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน  3 ของจำนวน ส.ว. ด้วย ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยฉบับที่แล้วก็กำหนดไว้ 
 
อย่างไรก็ดี อีกเงื่อนไขที่เพิ่มความยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือ การพิจารณาในวาระ 3 เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญมีชัยก่อนหน้านี้ระบุว่า ต้องมี ส.ส. จากทุกพรรคที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน ลงมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของจำนวน ส.ส. ทุกพรรคดังกล่าว แต่หากพรรคใดมี ส.ส.ต่ำกว่า 10 คน ให้รวมกันทุกพรรคและต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 แต่ทว่า ร่างฉบับล่าสุดกลับเพิ่มเงื่อนไขอีกว่า ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน ซึ่งยากกว่าของเดิมที่แก้ไขยากมากอยู่แล้ว 
 
แก้ไขบททั่วไป การแก้ไขเพิ่มเติม รธน. หรืออำนาจศาลและองค์กรอิสระ ต้องทำประชามติก่อน
 
ส่วนกรณีที่จะแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้จัดทำประชามติก่อน หากผลประชามติเห็นชอบ จึงจะดำเนินการแก้ไขได้
 
ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า "แก้ได้หรือไม่ได้"
 
ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว. หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา หรือของสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างนั้น นายกฯ จะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้
 
มีข้อสังเกตว่า ในร่างรํฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 49 กำหนดว่า ถ้าผู้ใดทราบว่ามีบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครอง ผู้นั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้ ซึ่งอาจมีการนำมาใช้ในกรณีที่มีผู้ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย