12 มิถุนายน 2559 สมัชชาสาธารณสุขปกป้องประชาธิปไตย และกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย เผยแพร่หนังสือแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ตั้งข้อสังเกต 7 ข้อ ชี้ร่างรัฐธรรมนูญลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน, ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บิดผันเจตจำนงของประชาชน, วุฒิสมาชิกไม่มีที่มาจากประชาชน, เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร, การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำได้ยากยิ่ง และเป็นการสืบทอดอำนาจองค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง พร้อมระบุร่วมรณรงค์ประชาชนลงประชามติ
รายละเอียด มีดังนี้
หนังสือแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2559 ซึ่งมีกำเนิดมาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จะถูกนำเข้าสู่การลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 นี้
ในฐานะประชาชนชาวไทยซึ่งเป็นผู้ที่จะได้ผลประทบโดยตรง ควรได้ศึกษาถึงข้อดี ข้อเสีย เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ทางสมัชชาสาธารณสุขปกป้องประชาธิปไตย และกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะของกลุ่มประชาชนกลุ่มหนึ่ง ได้ศึกษาตัวร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี นักวิชาการ นักการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนแล้ว และมีความเห็นสรุปต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้
จึงขอใช้สิทธิและเสรีภาพเท่าที่ได้อนุญาตไว้ในปัจจุบัน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 34 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมาย”, พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต” และ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2559
สมัชชาสาธารณสุขปกป้องประชาธิปไตย และกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะประชาชนกลุ่มหนึ่ง ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งความเห็นของทุกๆ ฝ่ายแล้ว มีข้อสรุปต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. ร่างรัฐธรรมนูญลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
การย้ายประเด็นสิทธิหลายประการจากหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไปไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ทำให้สิทธิเดิม ที่ประชาชนเรียกร้องได้เองโดยตรง กลับต้องไปเรียกร้องให้รัฐเป็นผู้จัดหาให้
2. ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บิดผันเจตจำนงของประชาชน
การลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งใบเดียวแต่นำไปใช้คิดคะแนนทั้งระบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ทำให้เจตจำนงที่แท้จริงของผู้ลงคะแนนถูกบิดผันไป
3. วุฒิสมาชิกไม่มีที่มาจากประชาชน
วุฒิสภาเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย คือ อำนาจนิติบัญญัติ แต่ประชาชนกลับไม่มีส่วนในการเลือกตั้ง
4. เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นการไม่เคารพปณิธานของวีรชนเดือนพฤษภา ปี 35 ที่ได้เคยเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเรียกร้องไว้
5. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
ผิดหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
6. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำได้ยากยิ่ง
รัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขได้ เพื่อให้มีความเหมาะสมแห่งยุคสมัย และสถานการณ์ หากรัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และการสร้างความมั่นคงของประเทศ
7. เป็นการสืบทอดอำนาจองค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังคงอยู่และยังมีอำนาจตามมาตรา 44 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ต่อไป แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว และวุฒิสมาชิกวาระแรกมาจากการแต่งตั้งของคสช.ทั้งหมด
เราจึงขอร่วมรณรงค์ให้ประชาชนใช้สิทธิลงประชามติ และมีความคิดต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น
สมัชชาสาธารณสุขปกป้องประชาธิปไตย
กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย
ที่มา: ประชาไท