เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจจะเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีคนติดตามเฟสบุ๊คจำนวนมาก โดยยอดผู้ติตตามของเขาสูงถึง 200,000 คน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเจษฎาคือนักวิทยาศาสตร์ขาประจำที่สื่อมวลชนจำนวนมากเลือกใช้บริการเขาเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม แต่อีกบทบาทหนึ่งที่คนจดจำได้ดีก็คือ การเรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องมือ "จีที200" อันฉาวโฉ่ ซึ่งมันสะท้อนว่า เขาไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์ธรรมดาแต่ยังเป็นคนใจใส่สังคมอีกด้วย และในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ถ้าจะไม่คุยกับเจษฎาถึงจุดยืนและประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญเสียหน่อยก็คงจะแปลกอยู่มิใช่น้อย
7 ส.ค. จะไปลงประชามติไหมครับ?
ผมไปลงแน่ๆ และคิดว่าไม่น่าจะติดธุระอะไร ครั้งที่ผ่านมาเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผมก็ไปแสดงตัวตนชัดเจน
ประชามติครั้งนี้สำคัญยังครับ?
ผมคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเมืองนี้ ถ้าเรามั่นใจว่า ระบบประชาธิปไตยคือการที่เรามีสิทธิมีเสียงในการปกครองประเทศ ไม่ว่ากระบวนการอะไรก็ตามที่ทำให้เรามีสิทธิเราควรต้องใช้สิทธินั้น ไม่ว่าจะการเลือกตั้งหรือการลงประชามติ สำหรับเรื่องประชามติเป็นเรื่องใหญ่ เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้เราต้องใช้เป็นกฎหมายสูงสุด ใช้ไปอีกนาน เพราะฉะนั้นเราจะเป็นต้องไป และผมแปลกใจว่าหลายคนพูดในเชิงว่าไม่ไปหรอก เพราะไม่พอใจรัฐบาลที่มีอยู่ตอนนี้จึงไม่ไป ซึ่งผมว่าคุณเสียสิทธิโดยเปล่าประโยชน์ คุณควรจะใช้สิทธิตรงนี้
โหวตอะไรครับ?
ผมชัดเจน ผมพูดมาตลอดผมโหวตไม่รับแน่ๆ
ทำไมหรอครับ?
เหตุผลมีสองส่วน หนึ่งตัวร่างรัฐธรรมนูญเองมีข้อบกพร่องเยอะมาก เนื่องจากเรารู้ว่าจะเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะใช้ร่วมกันทั้งประเทศ แล้วเราพบว่ากลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากมาก เราเห็นตัวอย่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งตอนนั้นก็มีการลงประชามติเหมือนกัน และคนส่วนใหญ่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วนำมาใช้จริง ด้วยคำพูดที่บอกเราไปก่อนแล้วแก้ไขได้ แต่กลับว่าประเด็นใหญ่ๆ อย่างเช่นการแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นคนเสนอ ซึ่งโดยแนวคิดนี้ผมเห็นด้วยว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ภาพคือรัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ พอแก้ก็มีคนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็บอกว่าคุณแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้นจึงผิดจากที่คุยกันไว้
เพราะฉะนั้นโดยโครงสร้างใหม่ของร่างรัฐธรรมนูญที่เขาเสนอเรา เราเห็นได้ชัดเลยว่ามีจุดบอดใหญ่มากคือไม่ยอมให้แก้แน่ๆ เพราะฉะนั้นถ้าคุณรับไปคุณจะไปหวังแก้ในอนาคตไม่ได้
รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของการมาชั่งน้ำหนักว่าอะไรดีกว่ากัน มีข้อดีกี่ข้อ ข้อเสียกี่ข้อ ถ้าคุณบอกว่ามีข้อดี 7 ข้อ ข้อเสีย 2 ข้อ แล้วบอกว่าคุณต้องรับเพราะมีข้อดี 7ข้อ มันไม่ใช่ คุณต้องไปเหลือข้อเสียเลย อันนี้แนวคิดผม ถ้าคุณคิดว่าจะแก้ไม่ได้คุณต้องไม่เหลือข้อเสียเลย ฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามอ่านร่างรัฐธรรมนูญอันนี้แล้วเจอข้อไม่พอใจแม้แต่ข้อเดียวคุณต้องไม่รับ เพราะคุณแก้ไม่ได้ หลักใหญ่ๆ คือตัวร่างรัฐธรรมนูญเองมีปัญหา
หลักการข้อที่สอง คือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนี้ผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก กระบวนการที่มีคสช. เข้ามาปฏิวัติ รัฐประหาร ยึดอำนาจ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ การร่างไม่ได้เป็นคนจากประชาชนทั่วไปมาร่วมกันร่าง แนวคิดของการร่างก็ผิด คุณอ้างมาตั้งแต่ต้นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหาติดล็อกตรงนั้นตรงนี้ หน้าที่คุณจริงๆ คือ เอารัฐธรรมนูญ 2550 มาแก้ในข้อที่คุณคิดว่าติดล็อก นี่คือวิทยาศาสตร์เลย ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ คือเวลาเราเจอปัญหา เราพัฒนาให้ดีขึ้น เราเจอว่าโครงสร้างที่ดีอยู่แล้วตรงไหนไม่ดีเราก็แก้ให้ดีขึ้น ไม่ใช่คุณฉีกทั้งหมด แล้วคุณร่างใหม่ทั้งหมดโดยความรู้สึกของคุณเองไม่กี่คน แล้วบอกว่านี่คือของเจ๋งที่ให้คุณเอามาใช้ คุณเป็นใครก็ไม่รู้ซึ่งกระบวนการได้มาของร่างรัฐธรรมนูญนี้ผมไม่เห็นด้วย ดังนั้นผมจึงไม่รับ
คำถามพ่วง อ่านแล้วเข้าใจว่ายังไงบ้าง?
น่าสนใจมาก คนจำนวนมากไม่รู้ว่ามีประชามติวัน 7 สิงหาคม คนจำนวนมากกว่ายิ่งกว่าไม่รู้ว่ามีคำถามพ่วง ซึ่งน่าสนใจมากคือคุณไม่ได้ติดตามตั้งแต่แรกว่าเขามีกระบวนการที่ สนช.ตั้งคำถามพ่วง พอคุณไม่รู้และเมื่อถึงวันที่ไปลงประชามติเจอคำถามพ่วงอีกข้อจะไม่งงหรอว่าเขาเขียนว่าอะไร แน่นอนว่าคุณก็จะลงตามอารมณ์ คนที่ลงไม่เห็นชอบก็จะลงไม่เห็นชอบสองข้อ คนที่ลงเห็นชอบก็เห็นชอบทั้งสองข้อ
คำถามพ่วงเป็นผลที่มีปฏิกิริยามากกว่านั้นเยอะ เพราะมีความหมายและประโยคค่อนข้างซับซ้อนแต่มีผลที่รุนแรง ผมมั่นใจเลยว่า คนน้อยคนมากที่อ่านแล้วรู้เรื่องในครั้งเดียว ถึงเราพยายามบอกว่าเราย่อยโดยเข้าใจแล้วคนทั่วไปก็อาจเถียงกลับได้อีกว่าไม่แน่นะเขาอาจจะตีความเป็นอีกอย่าง ก็จะมีการเล่นเรื่องการตีความ แต่โดยส่วนตัวผมเข้าใจสั้นๆ ว่าตกลงคุณจะให้ คสช.ตั้งนายกฯ ใช่ไหม
ด้วยภาษาอันสวยหรูที่อ่านแล้วยาวๆ ว่าให้มีการปฎิรูปปรองดองให้รัฐสภาครั้งหน้าช่วยกันได้ไหม แต่คุณไปซ้อนในบทเฉพาะกาลเรียบร้อยไม่ใช่หรอว่าให้ ส.ว.มาจาก คสช. เพราะฉะนั้นถ้า คสช.เป็นผู้เลือกและคุณให้สิทธิเขาในการที่เขาจะเลือกส.ว.ทั้งสภา คุณต้องการเสียงจาก ส.ส.เลือกตั้งนิดเดียวคุณก็จะเลือกนายกฯ ได้ ด้วยร่างรัฐธรรมนูญนี้เปิดโอกาสให้คนนอกที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งส.ส. สามารถเป็นนายกฯ ได้ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ที่ง่ายที่สุด ผมก็หาพรรคขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เสนอชื่อนายกฯ สามชื่อโดยเสนอชื่อคนจาก คสช.ก็ได้ หรือคนที่ คสช.นับถือก็ได้ ถึงเวลาถ้าข้อนี้ผ่านรัฐสภาก็สามารถเลือกชื่อคนตามบัญชีนี้ขึ้นมาได้ จบสั้นแค่นี้ แต่ถ้าไม่มีใครอธิบายเลย และผมไม่ใช่นักกฎหมายผมต้องมาตีความเองอย่างนี้ใช่ไหม แทนที่จะมีนักกฎหมายจริงๆ มาเถียงให้ผมฟัง แน่นอนผมไม่รับคำถามนี้ชัดเจน
บรรยากาศประชามติเป็นอย่างไรบ้าง?
ผมพบว่าคนจำนวนมากถึงมากที่สุด ไม่รู้ว่าจะมีประชามติวันไหน คืออาจจะเริ่มมีเสียงลอยๆ เรื่องประชามติ คนรู้ว่ามีประชามติ แต่ก็มาถามผมว่ามีประชามติเรื่องอะไร คนไม่รู้ว่าประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ คนคิดว่าเป็นการเลือกตั้งอะไรหรือเปล่า มันเงียบจนผิดปกติ ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 กับตอนนี้ต่างกันมาก บรรยากาศการลงประชามติครั้งนั้นไม่มีความขัดแย้งสูงเท่าครั้งนี้ เป็นบรรยากาศที่เสรีมากกว่า มีการจัดเวทีดีเบตเกิดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ
บรรยากาศครั้งนี้ตั้งแต่ก่อนจะมี พ.ร.บ.ประชามติฯ ออกมา ก็มีเสียงขู่มาตั้งแรกแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ให้มีการรณรงค์ จะให้ไม่มีการพูดกันว่ารับหรือไม่รับด้วยซ้ำ ทุกคนต้องเงียบหมดเพื่อเปิดบรรยากาศปรองดอง ซึ่งน่าแปลกใจใน พ.ร.บ.ประชามติ ค่อนข้างจะให้สิทธิกับผู้ร่าง คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องบอกว่าของเขาดีเพราะเขาเป็นคนร่างเอง กกต.มีหน้าที่จัดให้มีเวทีกลางบ้างเล็กน้อย และคอยประชาสัมพันธ์บ้างเล็กน้อย
แต่ฝ่ายที่จะออกมาบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ดียังไง มีคำที่จะห้ามไว้ในพ.ร.บ.ประชามติฯ ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะห้ามบิดเบือน ใช้ภาษาก้าวร้าวรุนแรง หรือว่ามีการปลุกระดม ซึ่งเป็นคำที่ต้องตีความเยอะ เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติฯ เราจะเห็นสถานการณ์ที่มีคนจำนวนมากออกมาพูดแล้วถูกห้าม หรือออกมาทำกิจกรรมแล้วถูกเรียก ถูกจับกุม คุมขัง ทั้งเรียกไปสอบปากคำต่างๆ โดยการอ้างพ.ร.บ.ประชามติฯ ฉะนั้นบรรยากาศเสรีภาพทางวิชาการก็ตาม หรือเสรีภาพทางการเมืองเลยไม่เกิด และเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถลงประชามติกันโดยที่ไม่มีข้อมูลทั้งสองฝ่าย
กรณี Brexit ที่อังกฤษเป็นตัวอย่างที่ดีและใกล้ตัวมาก เราจะเห็นการทำประชามติที่รณรงค์การอย่างเข้มข้นมาก มีจัดเวทีเสวนา ดีเบต เยอะแยะมาก บรรยากาศที่รณรงค์กันอย่างเต็มที่ขนาดนั้นพอเสร็จแล้วคนก็ยังมีคนไม่ค่อยยอมรับผลที่ออกมาเลย และคนที่ไม่ยอมรับผลพอวิเคราะห์แล้วก็กลายเป็นคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ คือคนอายุมากไปลงว่าจะออกจากอียู คนอายุน้อยไปลงว่าจะอยู่กับอียูต่อ แต่คนอายุน้อยกลับไม่ใช้สิทธิน้อย นี่ขนาดอังกฤษนับประสาอะไรกับบ้านเรา ที่ไม่มีการรณรงค์อะไรให้รู้เรื่องเลย
ผมเห็นวิกฤตเต็มๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากลงประชามติคราวนี้ ถ้าบรรยากาศยังเป็นเช่นนี้อยู่ พอลงประชามติเสร็จแล้วต้องเกิดผลลัพธ์แน่ๆ ไม่มีเสมอ ต้องมีรับหรือไม่รับแน่ๆ ถ้าเกิดรับขึ้นมาฝ่ายที่ไม่รับไม่เห็นด้วย อาจจะเป็นระดับ นปช. พรรคเพื่อไทย หรือประชาชนทั่วไป ผมเชื่อว่าจะมีคนโวยวายเยอะมาก กระแสที่เริ่มมาตอนนี้ก็คือกระแสที่ว่าเดียวมันต้องโกงแน่ๆ ไม่ให้หน่วยงานต่างชาติเข้ามาดู คือคุณเริ่มมีข้ออ้างในมือที่คุณบอกว่าจะไม่รับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด กลับข้างกันเกิดผลออกมาว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็จะเกิดสถานการณ์เดียวกันรัฐบาลไม่พอใจ ผู้ร่างไม่พอใจ ผู้สนับรัฐบาลและผู้ร่างไม่พอใจ อาจจะบอกว่าคุณลงตามอารมณ์หรือเปล่า คุณลงเพราะสนับสนุนนปช.ใช่ไหม คุณโดนซื้อเสียงมาใช่ไหม วิชามารเริ่มกลับมาหรือเปล่า คือบรรยากาศไม่โปร่งใส่ ปิดกั้น คุณจะคาดหวังผลให้คนยอมรับไม่ได้ และนั้นคือวิกฤตอันใหญ่จริงๆ ที่รอเราอยู่ในอนาคต