พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย พร้อมด้วย ศ.ดร.นายวิษณุ เครืองาม ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com/
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2557 มีการชี้แจงรายละเอียดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม และ ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมด้วย ศ.ดร.นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร กล่าวว่า บ้านเมืองกำลังมีกฎกติกาที่แน่นอน เป็นหลักของกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งจะเรียกได้ว่าบ้านเมืองของเราเป็นนิติรัฐคือ ลัทธิยึดถือกฎหมาย เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันของประชาชนกับองค์ที่ใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อนำไปสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกกันว่าโรดแมป หรือจะพูดอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การปฏิบัติตามพันธสัญญาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดหมายของประชาธิปไตย ภายในกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน
“ไม่ว่าเราจะอยู่ใต้การปกครองของรัฐธรรมนูญฉบับใด จะเป็นฉบับถาวร หรือฉบับชั่วคราว แต่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งตามหลักรัฐศาสตร์แบบฝรั่งเรียกว่า Constitutional monarchy แต่พระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นเป็นยิ่งกว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครั้งนี้มีบทบัญญัติที่ชัดเจนถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในเรื่องต่างๆ เช่น พระราชอำนาจในการอภัยโทษ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลต่างๆ เป็นต้น อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างจะยาวมากกว่าฉบับชั่วคราวอื่นๆ เพราะได้เขียนไว้มากในเรื่องพระราชอำนาจ ยืนยันถึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ดร.พรเพชร กล่าว
ดร.พรเพชร กล่าวถึงหลักการที่สำคัญ และจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย ผม ในฐานะที่ปรึกษาของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก นักกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานรักษาความสงบ สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร่วมกันรับผิดชอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อยกร่างเสร็จแล้วในชั้นแรก ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ จัดโครงสร้างองค์กรต่างๆ ไว้ชัดเจน องค์กรแรกคือพระมหากษัตริย์ ให้คงบทบัญญัติของหมวด 2 ของพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และยังบังคับใช้อยู่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้เขียนไว้ชัดเจนถึงพระราชอำนาจในการใช้อำนาจอธิปไตยทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และกษัตริย์ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งต่างๆ พระราชอำนาจที่สำคัญคือ พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย และร่างรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดเจน พระราชอำนาจในการทำสัญญากับนานาประเทศ
นอกจากนั้น ยังทรงมีพระราชอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนคณะองคมนตรีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของหมวดพระมหากษัตริย์ คงไว้เช่นเดิม
“อำนาจหนึ่งที่สนใจมาก คือ อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช.คืออำนาจที่อาจบอกว่า เป็นอำนาจเด็ดขาด บางคนก็พูดว่าเป็นอำนาจตามแบบมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ผมขอเรียนว่า มาตรา 44 ไม่ได้แรงอย่างนั้น มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างความสงบ สร้างความเป็นปึกแผ่น สร้างบรรยากาศที่ดีไปสู่การปฏิรูป ถ้าหากเกิดมีสิ่งใดที่รัฐบาลตามปกติไม่อาจทำได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็อาจทำได้ให้อำนาจไว้อย่างนั้น เพื่อให้การปฏิรูปดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว” ดร.พรเพชรกล่าว
ดร.วิษณุ เครืองาม ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/
ดร.วิษณุ เครืองาม ชักแม่น้ำทั้ง 5 สายในรัฐธรรมนูญ
ดร.วิษณุ เครืองาม แถลงต่อว่า บัดนี้ได้เข้าสู่ช่วงเวลาช่วงที่ 2 ตามแผนและขั้นตอน หรือที่เรียกกันว่าโรดแมป ขั้นที่ 2 เริ่มต้นขึ้นด้วยการประการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อวานนี้ ซึ่งเผอิญตรงกับการครบ 2 เดือนพอดี นับตั้งแต่ได้มีการปกครองอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ถ้าหากนับทั้งฉบับถาวร และฉบับชั่วคราว โดยไม่นับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นอันว่า เป็นฉบับที่ 19 แต่คำว่า ฉบับชั่วคราว มีความหมายอยู่ในตัวว่า ให้ใช้บังคับไปพรางก่อน ซึ่งคาดว่า จะมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี บวกลบ เพื่ออยู่ระหว่างการรอการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ไป
ดร.วิษณุกล่าวว่า เมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งจะเป็นฉบับที่ 20 ข้างหน้าโน้นเสร็จสิ้นกฎหมายลูก หรือกฎหมายประกอบที่จำเป็นดำเนินการเสร็จสิ้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนและขั้นตอน นั่นคือการจัดการเลือกตั้ง เพื่อจะคืนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับสู่ประเทศชาติ โดยมีความเชื่อว่า ช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีนับจากนี้ไป จะสามารถจัดการปัญหาที่ค้างคาอยู่ และเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่สงบ ความไม่เรียบร้อยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เป็นผลสำเร็จ อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง ความจำเป็นในช่วงเวลา 1 ปี นับจากนี้ไปคือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดเสียงบ่น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งที่อุตส่าห์ลงแรง และทำกันไปในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่เสียของ หรือสูญเปล่า
“เพราะเหตุดังนี้เองในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราวนี้ จึงจำเป็นต้องวางหลักการบางอย่างที่อาจจะดูเข้มงวดกวดขัน หรืออาจดูพะรุงพะรัง อาจดูยุ่งยากแต่จำเป็น รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเหมือนกับต้นธาร หรือต้นของสายแม่น้ำอีก 5 สาย ที่จะหลั่งไหล พรั่งพรู นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป แม่น้ำ หรือแคว หรือธาร สายที่ 1 ที่จะแยกจากรัฐธรรมนูญนี้ไปในอีกเวลาไม่นานนัก และเป็นสิ่งแรกที่จะบังเกิดขึ้นคือ การเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญทั่วไปในภาษาพูดว่า สนช.”
แม่น้ำสายที่ 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
จะเป็นเหมือนสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติในอดีต มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งขึ้น ตามคำแนะนำของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นั่นแปลว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะเป็นผู้พิจารณาเลือกสรรและนำความกราบบังคมทูล
สมาชิกทั้ง 220 คนนี้ ไม่มีการสมัคร จึงเป็นเรื่องที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะพิจารณา โดยอาศัยฐานข้อมูลหลายอย่าง ซึ่งเวลานี้มีการจัดทำเรียบร้อยแล้ว ที่ว่าเรียบร้อยแล้วคือทำฐานข้อมูลเช่น ให้ครอบคลุมสาขาอาชีพ ให้ครอบคลุมจังหวัดพื้นที่ภูมิภาค ให้ครอบคลุมเพศ วัย คุณสมบัติสำคัญของคนที่จะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เบื้องต้นคือ จะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย จะต้องมีเป็นผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมือง หมายถึงดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง นั่นแปลว่า ไม่ได้ขัดข้องที่จะตั้งนักการเมืองในอดีต ซึ่งมิได้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง คำว่าตำแหน่งในพรรคการเมืองนั้น หมายความถึงตำแหน่งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาพรรค เหรัญญิก ผู้บริหารพรรค แต่ไม่รวมถึงสมาชิกของพรรค
อำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มี 4 ประการ ประการที่ 1 คือ อำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย ซึ่งเหมือนกับ ส.ส.-ส.ว.ในอดีตนั้นเอง อำนาจนี้รวมถึงเรื่องการอนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลจะต้องออกไปด้วยความเร่งด่วน และอำนาจในการให้ความเห็นชอบสนธิสัญญา และหนังสือสำคัญที่รัฐบาลไปทำกับต่างประเทศด้วย อำนาจหน้าที่ประการที่ 2 ของ สนช.คือ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง และถอดถอนนายกรัฐมนตรี แปลว่าการแต่งตั้ง และถอดถอนนายกรัฐมนตรีนั้น อยู่ในอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนจะเลือกจากผู้ที่เป็นสมาชิก หรือบุคคลภายนอก ก็แล้วแต่สภาจะไปพิจารณากันเอง ไม่มีข้อกีดกันหวงห้าม หรือจำกัดแต่ประการใด
อำนาจหน้าที่ประการที่ 3 ของ สนช.คือ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจำกัดอยู่เพียงแค่การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี แต่ไม่รวมไปถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อซักฟอก ถ้ามีปัญหาสงสัยในการทำงานก็อาจจะเชิญรัฐบาลมาสอบถาม หรือที่เรียกว่าอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติได้
อำนาจที่ 4 คือ อำนาจในการให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่มีกำหนด ว่าต้องมาที่สภา เช่น ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งอัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมตลอดไปถึงการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ สนช. และเป็นองค์กรที่จะเกิดขึ้นก่อนองค์กรอื่นทั้งหมดนับจากนี้ไป
แม่น้ำสายที่ 2 คณะรัฐมนตรี
ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี 1 คน รัฐมนตรีอื่นอีกรวมไม่เกิน 35 คน รวมเป็น 36 คน อันเป็นตัวเลขเดิมที่ใช้มาหลายปีก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากบุคคลใดก็ได้ เป็นข้าราชการประจำก็ได้ เป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็ได้ เนื่องจากเราได้เห็นเหตุผลว่า เป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ ซึ่งใช้เวลาสั้นประมาณเพียง 1 ปี จึงสมควรเปิดทางที่จะให้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบคู่กันไปเป็นรายกรณี ก็เป็นไปตามปกติที่เคยปฏิบัติเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจหน้าที่คณะรัฐมนตรีแต่เดิม ซึ่งเป็นแบบฉบับที่เคยรู้จักกันมาตลอด มีประการเดียวคือ การบริหารราชการแผ่นดิน
ปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่างเวลาที่กราบเรียนแล้วว่า ไม่ปกติ และต้องการที่จะป้องกันขจัดสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่า เสียของ หรือสูญเปล่า จึงได้กำหนดเป็นครั้งแรกให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดิน นั่นก็คือ ข้อแรก อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ ไม่ว่าคณะรัฐมนตรีจะดำริเอง หรือมีข้อเสนอมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือมาจากวงการใดก็ตาม ซึ่งสามารถเชื้อเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ได้จำกัดว่าเป็นอำนาจของผู้ใด แต่เรากำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่คณะรัฐมนตรี โดยถือว่าเป็นคนละส่วนกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหนักไปตามบริหารตามปกติ หรือการพัฒนาประเทศในยามปกติ อำนาจข้อสอง ที่เพิ่มให้คณะรัฐมนตรี คือ การสร้างความสามัคคีปรองดองและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยถือว่าเป็นพันธกิจที่คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติ
แม่น้ำสายที่3 สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.
มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา แบ่งมาจากจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร 77 จังหวัด จึงมี 77 คน จังหวัดละ 1 คน โดยสรรหากันมาจากในแต่ละจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการสรรหาคณะละ 1 ชุดในหนึ่งจังหวัด แล้วหาคนที่มีความเหมาะสม มาเป็นผู้แทนจังหวัดๆ ละ 1 คน โดยเลือกเข้ามาจังหวัดละ 5 คน และให้ คสช.เลือก 1 ใน 5 คสช.จะไม่เลือกบุคคลอื่นนอกจาก 5 คนที่ส่งมาแต่ละจังหวัดไม่ได้ ยังมีเหลืออีก 173 คน เพื่อจะรวมกันให้เป็น 250 คน 173 คนที่เหลือว่ากระจายกันมาจากทั่วประเทศ ไม่ผูกพันกับจังหวัดหรือว่าพื้นที่ใด
การปฏิรูปผูกพันอยู่กับด้านต่างๆ 11 ด้าน คือ ด้านการเมือง หมายถึงการปฏิรูปด้านการเมือง ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านสื่อสารมวลชน นากจากนั้นก็ยังมีด้านอื่นๆ ซึ่งรวมเบ็ดเสร็จจะมี 11 ด้าน มีคณะกรรมการสรรหาประจำด้าน ด้านละ 1 ชุด ตัวคนที่เป็นกรรมการสรรหาจะไม่มีโอกาสได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย คือ ต้องไม่มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้อง การสรรหาสมาชิก 173 คนจากทั่วประเทศ ห้ามสมัครเอง ห้ามเดินเข้ามาแสดงความจำนงว่าอยากเป็น แต่ต้องมีองค์กร มีนิติบุคคล มีสมาคม มีมหาวิทยาลัย มีสถาบันการศึกษา แม้กระทั่งวัดก็เปิดโอกาสให้เสนอชื่อเข้ามา องค์กรละ 2 คน ว่าจะเข้ามาเพื่อปฏิรูปได้ด้านใด และกรรมการสรรหาจะเลือกเฟ้นให้ได้แต่ละด้านๆ ละไม่เกิน 50 คน ปฏิรูป 11 ด้าน ก็ได้รายชื่อ 550 คน ส่งไปที่ คสช. ที่จะเลือกเอาจากแต่ละด้านทั้ง 11 ด้าน เพื่อให้เหลือได้จำนวน 173 คน ไปรวมกับ 77 คน จาก 77 จังหวัด เป็น 250 คน
อำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ข้อที่ 1 ก็คือการเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ แล้วสามารถปฏิบัติได้เลยโดยไม่ต้องรอกฎบัตรกฎหมายมารองรับ ก็ให้ส่งไปยังรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบอกไปที่ คสช.ก็จะรับไปดำเนินการตามนั้น ถ้าเรื่องใดต้องมีกฎหมายรองรับจะขอให้สมาชิกสภาปฏิรูปนั่นเอง เพื่อยกร่างกฎหมาย และนำไปเสนอต่อ สนช. แต่ว่าสมาชิกสภาปฏิรูปเสนอกฎหมายได้ แต่ต้องเสนอต่อสภาโน้น คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
อำนาจหน้าที่ข้อที่ 2 ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีคณะกรรมาธิการไปยกร่างจัดทำขึ้น
แม่น้ำสายที่ 4 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
มี 36 คน มาจากสมาชิกสภาปฏิรูแห่งชาติเสนอ 20 คน มาจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ 5 คน มาจากที่คณะรัฐมนตรีเสนอ 5 คน และมาจากที่ คสช.เสนออีก 5 คน แต่ คสช.จะเสนอคนไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างด้วยอีก 1 คน 20+5+5+5+1 รวมเป็น 36 คน
คุณสมบัติของคณะกรรมาธิการ ยกร่าง 36 คน ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ และทำงานแข่งกับเวลา ใช้เวลาในการยกร่าง 120 วัน ต้องเสร็จ ถ้าไม่เสร็จก็ต้องมีบทลงโทษคณะกรรมาธิการ จะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในทางการเมืองใน 3 ปี ไม่ใช่ดำเนินทางการเมือง ตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปี ก่อนย้อนหลัง คือ พยายามเอาคนปลอดจากการเมืองมาร่าง และห้ามคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต. ป.ป.ช. เป็นศาลรัฐธรรมนูญมาอยู่ในกรรมาธิการยกร่าง นั่นแปลว่าคุมในเรื่องอดีต และคุมในเรื่องอนาคตด้วยว่า คณะกรรมาธิการยกร่าง 36 คนนี้ จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ในอนาคตต่อไปไม่ได้ภายใน 2 ปี แต่ว่ากันทั้งก่อนจะมาเป็น และกันเมื่อร่างเสร็จหลังจากนี้ในอนาคต
เมื่อร่างเสร็จจะเอาไปให้สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบ แต่ก่อนหน้านั้น จะมีการขอแก้ไข หรือที่เรียกว่า แปรญัตติ ถ้ากรรมาธิการเห็นชอบก็แก้ตาม ถ้ากรรมาธิการไม่เห็นชอบ กรรมาธิการจะมีสิทธิเด็ดขาดในเรื่องนี้ ที่จะปกป้องรักษาร่างรัฐธรรมนูญของตนไว้ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คณะกรรมาธิการยกร่างไปร่างตามใจชอบจนแหวกแนวเกินไป และพิสดาร โลดโผน หรือขาดอะไรบางอย่างที่ควรจะมี จนกระทั่งกล่าวหากันอีกว่า เสียของ หรือสูญเปล่า
รัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงกำหนดกรอบด้วยว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ 4 ด้าน คือ 1 กรอบที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ไปตั้งแต่ต้น คือให้การบ้านไป 2 กรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ชั่วคราวในมาตรา 35 โดยกำหนดไว้ว่า รัฐธรรมนูญที่จะไปร่างใหม่ เช่น ต้องกล่าวถึงความเป็นรัฐเดียว แบ่งแยกมิได้จะต้องกล่าวถึงการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องกล่าวและบรรยายรายละเอียดเรื่องการป้องกัน ขจัดการทุจริต และการป้องกันไม่ให้คนที่เคยได้ชื่อว่าประพฤติทุจริต หรือโกงในการเลือกตั้ง เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในอนาคต รวมทั้งกำหนดหลักการที่ฝากไว้ด้วยว่า วางมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในการที่จะมุ่งหาเสียง หรือหาประโยชน์ใส่ตนโดยทุจริต หรือโดยมิชอบ และทบทวนความจำเป็นว่า ควรใส่เรื่ององค์กรอิสระอะไรเอาไว้ในรัฐธรรมนูญบ้าง เพราะในเวลาที่ผ่านมา อาจมีองค์กรหลายองค์กรที่อาจจะไม่มีความจำเป็นมากนัก อาจแค่ออกเป็นกฎหมายธรรมดารองรับก็พอ ไม่ต้องฝากไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่องอย่างนี้ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างไปคิด ไปทบทวน
แม่น้ำสายที่ 5 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
เพิ่มจำนวนจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 6-7 คน ขึ้นมาเป็นไม่เกิน 15 คน มีอำนาจหน้าที่ของ คสช. คือ 1 เสนอแนะให้รัฐมนตรีพิจารณาปฏิบัติในเรื่องใด ถ้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วจะไม่ทำก็ได้ อำนาจหน้าที่ประการที่ 2 ของ คสช.คือ ขอเชิญคณะรัฐมนตรีประชุมร่วมกัน เพื่อหารือปัญหาสำคัญของประเทศ ถ้า คสช. ไม่เชิญไป คณะรัฐมนตรีจะเชิญมาก็ได้ ซึ่งเป็นแบบแผนปกติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกฉบับที่่ผ่านมาว่า สามารถจัดให้มีการประชุมร่วมกันเช่นนี้ได้ ไม่มีที่ใดเลยใน
“รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ไม่มีการกำหนดให้ คสช.มีอำนาจหรือปลดนายกรัฐมนตรี ดังที่มีผู้ล่ำลือ ไม่มีที่ใดกำหนดให้ คสช. เป็นพี่เลี้ยง หรือ เปลือกหอยให้แก่คณะรัฐมนตรี ไม่มีที่ใดกำหนดให้ คสช. มีอำนาจบังคับบัญชาคณะรัฐมนตรี หรือ ข้าราชการประจำใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้ คสช.มีอยู่ เพื่อจะช่วยดูแลแบ่งเบาภาระคณะรัฐมนตรีในด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อคณะรัฐมนตรีจะได้ทำงานบริหารแผ่นดินโดยไม่วอกแวกกับปัญหาที่อาจแทรกซ้อน สอดแทรกเข้ามาในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีนี้ รวมทั้งดำเนินการในเรื่องของการสร้างสมานฉันท์ปรองดองสามัคคี”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ คสช.มีอำนาจที่จจัดการในเรื่องต่างๆ ได้ในกรณีเกิดความจำเป็นสุดขีด โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปหาวิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก จึงได้กำหนดไว้ในมาตรา 46 ให้คณะ คสช.ใช้อำนาจพิเศษ หากเกิดกรณีจำเป็นต้องใช้อำนาจ เพื่อการสร้างสรรค์ไม่ใช่ใช้เพื่อกำราบปราบปรามอย่างเดียว คสช.อาจใช้อำนาจพิเศษนี้ได้แม้เป็นการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติบริหารตุลาการ อำนาจนี้คงไม่ได้ใช้บ่อยครั้ง ซึ่งคณะที่ยึดอำนาจในอดีตมีอำนาจนี้เกือบทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่ได้ปรากฏว่าได้ใช้ทุกยุคทุกสมัย และได้ใช้ในยามที่ไม่อาจใช้กระบวนการปกติได้เท่านั้น เพื่อจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีกที่สำคัญ คืออาจจะใช้เพื่อการสร้างสรรค์ ทำในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเองอาจจะใช้ยากลำบาก เพราะติดขัดในข้อกฎหมายรวมทั้งปัญหาหลายอย่าง
แก้ปัญหามาตรา 7
หลายคนอาจสงสัยว่ามี 48 มาตรา แค่นี้จะพอกิน พอใช้ พอแก้ พอปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันหรือ เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดาที่เขาต้องเขียนเอาไว้ สิ่งที่เราเคยรู้จักกันดีในอดีตเรื่องมาตรา 7 มันก็ต้องมาปรากฏอีกตรงนี้ว่า ถ้าไม่มีที่ใดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ก็ให้วินิฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่จะไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่เขียนไว้จะเกิดปัญหาช่องว่าง ขาดมาตราหลายมาตรา แต่ไม่ต้องกลัวว่า เขียนแล้วมันแปลว่าอะไร ถึงเวลาก็เถียงกันว่าเป็นหรือไม่เป็นระเพณี
คราวนี้ได้แก้ปัญหาว่าถ้าสงสัยว่า เรื่องใดเป็นประเพณีการปกครองหรือไม่ อย่าเพิ่งไปทะเลาะกันให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คำปรึกษาล่วงหน้าได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า เป็นประเพณีทำได้ก็จะได้ทำ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ไม่เป็นทำไม่ได้ก็จะได้ไม่ต้องทำ ไม่ต้องปล่อยให้ทำไปอย่างถูกๆ ผิด และมาวินิจฉัยที่หลังว่า มันไม่เป็นที่ทำไปแล้วผิด และต้องหาตัวผู้รับผิดชอบ
สุดท้ายอาจมีคำถามในใจหลายคนว่า รัฐธรรมนูญฉบับหน้า คือฉบับที่ 20 ที่จะไปร่างกันนั้น ร่างเสร็จแล้วจะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็ไม่ได้ปิดทาง เป็นสิ่งที่สามารถที่จะไปพิจารณากันตามความจำเป็นในอนาคตได้
ข้อสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำสิ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวในอดีตไม่ได้เขียนไว้ แต่มีเขียนในครั้งนี้ข้อหนึ่งคือ เมื่อใดที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือฉบับที่ 19 ชั่วคราวนี้ มีปัญหาอย่างใดที่สมคารแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์แม้จะเป็นฉบับชั่วคราว คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะจับมือกันเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมบางเรื่องที่บกพร่องอยู่ หรือควรจะมีแม้จะเป็นฉบับชั่วคราว แต่สามารถแก้ไขได้ในอนาคตคือ ได้พยายามทำให้มีความยืดหยุ่นที่สุด เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน และลำธาร 5 สาย ที่แยกออกจากรัฐธรรมนูญในวันนี้ สามารถไหลได้คล่องสามารถที่จะดำเนินการได้โดยไม่สะดุด พบสะดุดที่จุดไหนจะได้ดำเนินการแก้ไขได้
ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องเลิกแน่ เพราะของใหม่มาแทนของเก่าก็ต้องหมดไป สนช.นั้นจะอยู่ไปจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งสภาชุดหน้า คือมี ส.ส.สมัยหน้าเมื่อใด สนช.ก็ไม่จำเป็นก็หมดไป ขณะรัฐมนตรีจะอยู่ไปเมื่อใดจนกระทั่งถึงเมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับไม้ส่งต่อ ชุดเก่าก็หมดชุดใหม่ก็เข้ามาแทน สภาปฏิรูปแห่งชาติจะอยู่ไปถึงเมื่อใดคำตอบคือว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จ และเขียนเกี่ยวกับสภาปฏิรูปอย่างไรก็ให้เป็นไปตามอย่างนั้น รัฐธรรมนูญฉบับหน้าอาจเขียนให้สภาปฏิรูปอยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปเรื่องที่ค้างคาอยู่ต่อไปก็ได้ หรือว่าจะไม่ให้อยู่ เพราะจะเวนคืนอำนาจนี้ให้เป็นของ ส.ส.ที่เข้ามาก็ได้ ก็ฝากไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่เสร็จ และหมดไปเมื่อใดก็เมื่อร่างเสร็จลงพระปรมาภิไธยเสร็จประกาศใช้ คณะกรรมาธิการฯ ก็สิ้นไปเมื่อนั้น และ คสช.จะอยู่ไปจนถึงเมื่อใด โดยหลักเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคงไม่เขียนเรื่อง คสช.เอาไว้ในฉบับใหม่อีก คสช.ก็จะหมดไปเมื่อนั้น ทั้งหมดนี้คือแผน และขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลา 1 ปีบวกลบ ก็ขอกราบเรียนเพื่อความเข้าใจ
พล.อ.ไพบูลย แถลงในตอนท้ายว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนี้มา ในนามของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอขอบพระคุณ พี่น้องประชาชน และผู้มีเกียรติที่เคารพ ตลอดจนสื่อมวลชนที่รักทุกท่านนะครับ ที่มีความห่วงใยในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
“ขอยืนยันในเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่จะต้องรับผิดชอบการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เพื่อมาแก้ไขปัญหาของชาติ ที่มีมาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย จึงจำเป็นต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแผนงานที่ๆ เคยให้ไว้กับพี่น้องประชาชน มิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น และจะขอยืนยันอีกครั้งนะครับว่า จะนำไปใช้ในสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และมิให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างเด็ดขาด จึงขอโอกาส และเวลาให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ปฏิบัติตามแผนงานที่ได้เคยให้ไว้” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
จากนั้นเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถาม แต่เมื่อเข้าคำถามแรก เรื่องอำนาจของคสช. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจก็ตัดเข้าสู่รายการปกติทันที จบการแถลงข่าวเวลา 10.50 นาฬิกา
ที่มา: ไทยพับลิก้า