ให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เห็นด้วยหรือไม่?

คะแนนเสียงของคุณจะถูกเก็บข้อมูลแบบนิรนาม ไม่สามารถระบุผู้ลงคะแนนได้ แต่สามารถยกเลิกการลงคะแนนได้ โดยใช้ข้อมูลรหัสที่ได้รับทางอีเมล  ไม่ต้องการรับอีเมล
ลงคะแนนแล้ว 791 คน
เห็นด้วย 186ไม่เห็นด้วย 605

เมื่อวันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2558 มีการนัดประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 142 ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่าที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติกำหนดให้มี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ"  โดยอยู่ในมาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญ

องค์ประกอบของคณะกรรมการ กำหนดให้มีสมาชิก 23 คน โดยมีที่มา 3 ส่วน ได้แก่

1. กรรมการโดยตำแหน่งมาจากประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองแต่ละประเภท ประเภทละหนึ่งคน 

3.กรรมาการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน  11 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง ซึ่งแต่งตั้งจากมติรัฐสภา

การเลือกประธาน ให้กรรมการเลือกผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ

ระยะเวลา คณะกรรมการชุดนี้จะมีอายุ 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรืออาจขยายได้หากมีประชามติอนุมัติ

อำนาจหน้าที่พิเศษ ภายในช่วง 5 ปี ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากเกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยไม่สามารถควบคุมได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติสามารถมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพื่อใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว  เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด

สถานะการเปิดให้โหวต: 
ปิดการโหวต

แสดงความเห็น

ประเด็นสนับสนุน

การปฏิรูปและการปรองดองจะสัมฤทธิ์ผลได้ ต้องเอาคนที่มีอำนาจในประเทศมารวมกัน ดึงมาจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่รัฐบาล ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ศาล รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้อำนวยการเพื่อสร้างความปรองดองและการปฏิรูป นับเป็นการสร้างกลไกพิเศษที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังฝังรากลึกในสังคมไทยในปัจจุบัน

Votes: ชอบ 1 ไม่ชอบ 4 4 ความเห็น

เพราะการปฏิรูปสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ก่อนการเลือกตั้ง และถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ การปฏิรูปก็จะดำเนินต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

Votes: ชอบ 0 ไม่ชอบ 1 1 ความเห็น

จากเดิมการเมืองไทยเมื่อเกิดวิกฤตรัฐบาลพลเรือนจะนำมาสู่การรัฐประหาร และหลังรัฐประหารก็จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ซ้ำไปซ้ำมาต่อเนื่อง จนกลายเป็น “วงจรอุบาทว์”  ต่อจากนี้เมื่อเกิดวิกฤติที่กลไกปกติจัดการไม่ได้ จะมีกลไกพิเศษตามรัฐธรรมนูญเพื่อพาประเทศออกจากทางตันในยามวิกฤติ และยากที่ประเทศไทยจะกลับไปเกิดรัฐประหารใหม่

Votes: ชอบ 0 ไม่ชอบ 1 2 ความเห็น

ประเทศไทยถูกกดดันจากนานาชาติให้กลับสู่ระบบประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่การปฏิรูปประเทศยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ดังนั้นการมีกลไกพิเศษอย่าง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง” พร้อมจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำให้ตรงตามความคาดหวังของนานาประเทศ และสามารถจัดการประเทศในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อให้สามารถเดินหน้าปฏิรูป และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานได้

Votes: ชอบ 0 ไม่ชอบ 1 0 ความเห็น

ประเด็นคัดค้าน

ในระบบประชาธิปไตยการแก้ไขวิกฤติทางการเมือง คือการคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ให้อำนาจชนชั้นนำไม่กี่คนตัดสินใจแทนประชาชน 

Votes: ชอบ 6 ไม่ชอบ 0 4 ความเห็น

เสมือนเป็น “รัฐประหารเงียบ” กล่าวคือ หากเกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยไม่สามารถควบคุมได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติสามารถมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพื่อใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ และให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร

Votes: ชอบ 3 ไม่ชอบ 0 1 ความเห็น

เช่น การปลุกระดมมวลชนจำนวนมาก เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จน “เกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยไม่สามารถควบคุมได้” เพื่อเข้าเงื่อนไขการใช้อำนาจพิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

Votes: ชอบ 3 ไม่ชอบ 0 2 ความเห็น

คณะกรรมการฯ จำนวน 22 คน เป็นการดึงเอา “ผู้มีบารมี” และ “ผู้มีอำนาจ” ในบ้านเมืองมารวมกัน แต่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชน

Votes: ชอบ 3 ไม่ชอบ 0 1 ความเห็น

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง โดยแม้แต่นายกรัฐมนตรี ก็เป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ โดยยังไม่ทราบว่าใครจะได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการฯ

Votes: ชอบ 2 ไม่ชอบ 0 1 ความเห็น

จะเห็นว่ามีการตั้งคณะองค์กรต่างๆสืบทอดอำนาจจากคระรัฐประหาร เพื่อควบคุมปกครองยาวนาน ทั้งไม่มีแบบอย่างระบออบประชาธิปไตยที่ใดในโลกที่เป็นแบบนี้ ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง มองเห็นความวุ่นวายแน่นอนแม้ว้าจะเลือกตั้งแล้วก็ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการทูต และ ปัญหาเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Votes: ไม่มีคะแนน 0 ความเห็น

ในภาวะวิกฤติ ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิจากการใช้อำนาจของประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้วิธีการเยียวยาวทางศาลได้เลย ส่งผลให้สาระสำคัญของอำนาจตามบทบัญญัตินี้แทบจะลอกเอามาตรา 44 เดิมในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้ นอกจากนั้น ยังไม่มีกำหนดขอบเขตอำนาจของ "ประธานฯ" เอาไว้ด้วย กล่าวคือ ไม่กำหนดว่ามาตรการที่ออกมาจะต้องใช้ภายในระยะเวลาที่จำกัดและเป็นไปเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เหตุร้ายนั้นหมดไปเท่านั้น

Votes: ไม่มีคะแนน 2 ความเห็น