เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เว็บไซต์ prachamati.org เปิดโหวตในคำถาม “หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?” โดยมี 6 ตัวเลือกให้ชาวเน็ตเลือกว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ซึ่งถึงวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทุกคำตอบมีผู้โหวตเกิน 1,000 คน เป็นที่เรียบร้อย
ขณะที่อนาคตของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนหรือไม่? อย่างไรก็ตาม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ก็เผยถึงสี่แนวทางหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน ซึ่งทางเลือกทั้งหมดเป็นทางเลือกภายใต้การควบคุมของ คสช.
วันที่อาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2558 เว็บไซต์ prachamati.org จะเปิดผลโหวตหากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร? แต่ก่อนการเปิดผลว่าชาวเน็ตส่วนใหญ่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบวิธีไหน เราจึงขอเรียกน้ำย่อยจากการสำรวจคอมเม้นท์ในเว็บไซต์ prachamati.org และเพจเฟซบุ๊ก ประชามติ ทั้งสิ้น 777 คอมเม้นท์ (นับถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2558) ว่าชาวเน็ตคิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง?
ชาวเน็ตส่งเสียง ถ้าประชามติไม่ผ่าน ให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้
จากคอมเม้นท์ส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ใหม่ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยประชาชนผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา เป็นฉบับที่ทั่วโลกให้การยอมรับเป็นประชาธิปไตย
ในแง่ของเนื้อหามีข้อดีตรงที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ให้สิทธิประชาชนมาก พรรคการเมืองแข่งขันกันสร้างผลงาน ทำให้ประเทศพุ่งทะยานไปหน้า ทั้งนี้หากนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้แทนเลย จะไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินเดือนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้ามีข้อบกพร่องตรงไหนก็นำมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย
นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงแก้ไข
แม้หลายคนจะเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ หากประชามติไม่ผ่าน แต่หลายคนก็มองเห็นข้อบกพร่องซึ่งต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า Sivasek Inthana เสนอยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทั้งฉบับและให้แก้ไขเพิ่มเติมที่่มาจากองค์กรอิสระให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั่วทุกจังหวัดจัดตั้งเป็นสภาองค์กรอิสระจังหวัดละสองคน ทำหน้าที่สรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กร ขอบเขตหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องรายงานโดยตรงต่อสภาองค์การอิสระเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องคดีความต่างๆ โดยใช้เสียงในสภาองค์กรอิสระเสียงข้างมาก สภาองค์กรอิสระเสียงข้างมากมีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในกรณีการทำหน้าที่ไม่มีผลงาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขาดคุณธรรมจริยธรรม และอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ เช่น การจัดตั้งรัฐบาลให้ใช้เสียงไม่เกิน 60% ของรัฐสภา และการโหวตผ่านกฎหมายใดๆ ต้องโหวตโดยอิสระไม่อยู่ภายใต้มติพรรค เสนอให้แก้ไขให้คดีทุจริตทุกกรณีไม่มีอายุความ ใครเคยถูกลงโทษเพราะทุจริตในทุกกรณีห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต และลดอำนาจของฝ่ายบริหารลง เพราะมีอำนาจแข็งแกร่งมาก และสามารถคุมเสียงนิติบัญญัติได้เด็ดขาด
แก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550
มีคอมเม้นต์จำนวนหนึ่งเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 อันใดอันหนึ่งกลับมาใช้ใหม่ เหตุผลคือรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับบังคับใช้ยาวนานรวมกันถึง 18 ปี เรียกว่าเห็นจุดอ่อนช่องโหว่ที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Asuna Avava คิดว่าการนำสิ่งเก่ามาแก้ไขน่าจะง่ายกว่าเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะเราได้รับบทเรียนมามากแล้ว ทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ส่วนที่มีปัญหาก็แก้ไข ส่วนที่ดีงามอยู่แล้วก็ให้นำมาใช่ต่อ อย่างไรก็ตามทั้งสอง
ฉบับนี้ยังมีข้อดีตรงที่ ส.ว.ไม่มีอำนาจในการเสนอกฎหมาย ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ให้อำนาจส.ว.เสนอกฎหมายได้
ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้วเลือกตั้งใหม่
ผู้แสดงความเห็นบางส่วนสนับสนุนให้ปัดฝุ่นรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะมีความเหมาะสมดีแล้ว เนื้อหาไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ2540 เท่าไหร่นัก ที่สำคัญคือได้ผ่านประชามติจากประชาชนแล้ว (ขณะผู้ที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540 มองว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 มีลักษณะเชิงบังคับ) มีบางความเห็นเสนอให้นำมาปรับโดยตัดเนื้อหาที่ให้อำนาจนักการเมืองออกไป และให้นำมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาเพิ่มเติมเข้าไปด้วย
ขณะที่ ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า ธวัช สถิตย์ เสนอว่า ควรเอารัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้ก่อน แล้วจัดการเลือกตั้งโดยเร็วเพื่อให้มีรัฐบาลเฉพาะกิจ จากนั้นให้เลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็วเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จให้ทำประชามติว่าจะรับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แล้วจึงยุบสภา เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่
เลือกตั้ง สสร.จากประชาชน
ความเห็นจำนวนหนึ่งเสนอให้ประชาชนเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ใหม่ เพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเอง โดยมีการเสนอตัวเลือกให้เลือกตั้ง สสร. เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต
ให้ คสช.ร่างใหม่ต่อไป
มีความเห็นจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะนำรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กลับมาใช้ เพราะเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายจนถึงทุกวันนี้ แต่ละฉบับเปิดช่องทางให้นักการเมืองใช้อำนาจตัวเองโดยการยืมมือประชาชนเข้ามากระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายสารพัด ดังนั้นถ้าประชามติไม่ผ่านก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนชุดกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนรัฐบาลก็อยู่ต่อจนกว่ารัฐธรรมนูญจะผ่าน ซึ่งเป็นแนวคิดคล้ายกับกระบวนการที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
ปรับรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Prin Niamskul เสนอความเห็นที่แหวกแนวว่า ให้นำรัฐธรรมนูญทหารมาปรับ เพราะปัญหารัฐธรรมนูญ2540, 2550 และ 2558 ก็ปัญหาเดิม น้ำท่วมทุ่ง หากยังคิดแก้ปัญหาที่ตัวอักษรชาติหน้าคงเจริญ รัฐธรรมนูญยิ่งยาว ประเทศยิ่งล้มเหลวด้วยความซับซ้อนของมันเอง ใช้รัฐธรรมนูญทหาร เปิดช่องอำนาจเลือกตั้ง ให้มีรัฐธรรมนูญที่อยู่ในหัวประชาชนจำได้ ดีกว่ายุ่งยากจนใครก็จำไม่ได้
วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน นี้ เว็บไซต์ prachamati.org จะเปิดผลโหวตคำถาม “หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?” ใครที่ยังไม่โหวตสามารถเข้าไปโหวตและแสดงความคิดเห็น รวมทั้งแลกเปลี่ยนกับความเห็นก่อนหน้านี้ได้ นอกจากนี้ยังมีคำถามให้โหวตอีกจำนวนมาก คะแนนโหวตของคุณมีความหมาย มาร่วมกันโหวตมากๆ นะครับ