กรุงเทพธุรกิจ ลงข่าว ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และหนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอโมเดลปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง โดยให้มีการทำประชามติประเด็น 'เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ปฏิรูปประเทศต่ออีก 2 ปีก่อนเลือกตั้ง' ไปพร้อมกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ผลการทำประชามติจะออกมา 4 แนวทาง คือ
1. เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นชอบปฏิรูปอีก 2 ปี แนวทางนี้จะยังไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ต้องรออีก 2 ปีจึงจะมีผลโดยให้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 บังคับใช้ต่อไปและรัฐบาลก็ดำเนินการปฏิรูปไป
2. เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นชอบปฏิรูปอีก 2 ปี แนวทางนี้เรื่องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนนูญ คือ ออกกฎหมายลูก เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เรื่องปฏิรูป 2 ปีก็ตกไป
3. ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและเห็นชอบปฏิรูปอีก 2 ปี แนวทางนี้ก็ไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และการปฏิรูป 2 ปี
4.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและไม่เห็นชอบปฏิรูปอีก 2 ปี แนวทางนี้ก็ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำอย่างไรก็แล้วแต่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะแก้ไข
นอกจากนี้ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานข่าว สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า หากยึดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับปัจจุบันนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่สามารถเสนอประเด็นการทำประชามติได้ เพราะกำหนดไว้เฉพาะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีและต้องกำหนดประเด็นว่าจะทำประชามติในเรื่องใด โดยรัฐบาลสามารถเสนอได้ 2 รูปแบบ คือ ส่งเฉพาะคำถามในการทำประชามติ หรือส่งทั้งคำถามพร้อมกับกำหนดวันทำประชามติมาให้คณะกรรมการเลือกตั้งก็สามารถทำได้ทั้งสองทาง
ดูเหมือนจะมีเสียงขานรับการทำประชามติ 'ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง' จากหลายฝ่ายและมีความเป็นไปได้ แต่ทว่า กระแสดังกล่าวอาจจะไม่ได้เป็นที่ถูกใจสำหรับทุกคน
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า กระบวนการดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ เพราะสุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกแบบให้ คสช. ใช้อำนาจชี้ขาดทุกอย่าง ทั้งการวางเงื่อนไขของการทำประชามติ และกำหนดวันเลือกตั้ง และข้อเสนอดังกล่าว เท่ากับการเลือกให้ พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งขัดการหลักการทำประชามติ ที่เป็นเรื่องของการตัดสินใจเชิงนโยบายหรือการออกกฎหมายไม่ใช่การเลือกตัวบุคคล
ด้าน สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. เห็นว่าการประชามติให้นายกอยู่ต่อหรือไม่? ไม่น่าจะทำได้เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 165 ไม่ให้ออกจะประชามติเกี่ยวกับตัวบุคคลและคณะบุคคล แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้อำนาจมากเช่น มาตรา 44 หรือ แก้ไข มาตรา 46 ก็สามารถทำได้
ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การเสนอให้ทำประชามติเพื่อให้รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ต่อเพื่อดำเนินการปฏิรูปให้เสร็จสิ้นนั้นทำไม่ได้ ตนเห็นว่า เรื่องการทำประชามติจะต้องตั้งอยู่บนหลักการบางอย่างที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ประชามติเกิดจากหลักการประชาธิปไตยทางตรง และทำกันในเรื่องนโยบายสาธารณะ ขอบเขตอำนาจรัฐ ส่วนเรื่องการได้มาซึ่งผู้มีอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาทำประชามติ
ดังนั้น สิ่งที่ทำประชามติได้ต้องไม่ละเมิดหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย แม้ประเทศเราจะเขียนรัฐธรรมนูญ กรณีไม่มีกฏหมายใดใช้ได้ก็ให้ไปดูประเพณีการปกครอง ตนคิดว่าประเทศไทยพัฒนามามากเเล้ว ไม่ใช่จะเอาทุกอย่างมาทำประชามติ คิดว่ามีพวกนักกฏหมายที่อธิบายแบบเด็กเลี้ยงแกะ จึงอยากถามว่าสังคมจะอยู่ได้อย่างไร กับการสร้างกติกาที่ไร้หลักการเช่นนี้
8 มิ.ย. 2558 ไอเอ็นเอ็น รายงาน หลวงปู่พุทธะอิสระ ยื่นรายชื่อต่อ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรายละเอียดในหนังสือที่ยื่นเป็นรายชื่อประชาชนพร้อมสำเนาเอกสารจำนวน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อขอสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำประชามติ ให้รัฐบาลอยู่ต่อเพื่อปฏิรูปประเทศให้สำเร็จแล้วจึงดำเนินการจัดการเลือกตั้ง
แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ทำประชามติ
วิษณุ เครืองาม แถลงการประชุมร่วม คสช. กับ ครม. แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อ สนช. โดยประเด็นที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและประชามติ มีดังนี้
1. การขยายเวลาทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจาก 60 วัน ให้ไม่เกิน 90 วัน เพื่อให้เวลา เชิญผู้ที่เสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เข้าชี้แจง และรับฟังการแก้ไขร่างเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาให้รอบคอบ โดยกรรมาธิการยกร่างจะมีมติเองว่าจะขยายหรือไม่ก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน และแจ้ง สปช.รับทราบ
2. เมื่อ สปช. เห็นชอบร่างที่กรรมาธิการยกร่างแก้ไขเสร็จแล้ว จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติ โดย กกต. รับผิดชอบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ข้อห้าม ข้อพึงปฏิบัติ ในการทำประชามติ จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ แจกจ่ายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 19 ล้านครัวเรือน จากนั้น กกต.กำหนดวันทำประชามติ ภายใน 30-45 วัน คาดว่าเป็นช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2559
สำหรับประเด็นคำถามในการออกเสียงประชามติ คือ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญ และเปิดช่องให้มีคำถามอื่นที่จะให้ทำประชามติได้ในคราวเดียวกัน แต่ต้องเป็นคำถาม ของ สนช. หรือ สปช. ไม่เกินคนละ 1 ประเด็น และต้องส่ง ครม. เห็นชอบ
3. เมื่อ สปช. ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น
4.กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 36 คน สิ้นสุดสภาพทันที หากประชาชนลงมติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อกรรมาธิการยกร่างสิ้นสุดลง ไม่ว่ากรณีใด ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน มีประธาน 1 คน กรรมการไม่เกิน 20 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และฟังความเห็นประชาชน ภายใน 6 เดือน และนำไปออกเสียงประชามติซ้ำอีกครั้ง
จากการประชุมครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการลงประชามติเพื่อต่ออายุรัฐบาลชุดปัจจุบันไปอีก 2 ปี ทำให้ต้องจับตาต่อไปว่า ประเด็นคำถามเรื่องดังกล่าวจะมาจาก สนช. หรือ สปช. หรือจากทั้งสองสภา