ที่ประชุมร่วม ‘ครม.-คสช.’ ได้ข้อสรุปเตรียมแก้ไขร่างรธน. 7 ประเด็น

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมร่วม ครม.และ คสช. ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ใน 7 ประเด็น โดยใช้ชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558

วิษณุ กล่าวว่า 7 ประเด็นที่มีการแก้ไขประกอบด้วย ประเด็นที่ 1.  แก้ไขคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ  สนช. จากที่เคยกำหนดให้ สนช. ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็น ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ 2. การถวายสัตยปฏิญาณ ให้แก้ไขจากเดิม ที่จะต้องถวายสัตปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์ เป็นให้ถวายสัตย์ต่อองค์รัชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือ/และผู้แทนพระองค์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ หรือแต่งตั้งได้

ประเด็นที่ 3. การขยายเวลาการทำงานของ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขจาก 60 วัน ให้เป็นไม่เกิน 90  เพราะต้องให้เวลากรรมาธิการฯ มีเวลาเชิญผู้ที่เสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ และเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“การขยายเวลา ให้กรรมาธิการฯ เป็นผู้มีมติเองว่า จะขยายเวลาหรือไม่ก็ได้ และแจ้งให้ สปช. รับทราบ โดยจะขยายเพิ่มจาก 60 วันได้ไม่เกิน 30 วัน” วิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวว่า ประเด็นที่ 4. เรื่องการทำประชามติ แก้ไขให้เมื่อ สปช. พิจารณาเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่กรรมาธิการฯ แก้ไขเสร็จแล้ว จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติ โดยให้ กกต. รับผิดชอบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ข้อห้าม ข้อพึงปฎิบัติ ในการทำประชามติ  โดยข้อกำหนดต่างๆ ต้องให้ สนช.เห็นชอบก่อน

“ก่อนทำประชามติจะต้องจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ สปช.เห็นชอบแล้ว แจกจ่ายไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย 19 ล้านครัวเรือน หรือ ร้อยละ 80  จากทั้งหมด 23-24 ล้านครัวเรือน เมื่อแจกแล้ว กกต.จะกำหนดวันออกเสียงประชามติ ภายใน 30-45 วัน คาดว่าจะเป็นช่วงปลายมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2559” นายวิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวว่า สำหรับประเด็นคำถามในการออกเสียงประชามติ คือ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามอาจ อาจมีคำถามอื่นที่จะให้ทำประชามติในคราวเดียวกันได้  โดยจะต้องเป็นคำถาม ของ สนช. หรือ สปช.  สภาละไม่เกิน 1 ประเด็น และต้องส่งคำถามมาให้ ครม.เห็นชอบก่อน จากนั้น จะส่งให้ กกต.จัดทำประชามติเพิ่มเติมในประเด็นนั้น และถามในคราวเดียวกัน

“หากมีการทำประชามติประเด็นอื่นเพิ่ม แล้วประเด็นนั้นมีคำตอบขัดแย้งกับคำตอบเรื่องรับหรือไม่รับร่าง ให้ปรับปรุงร่างให้สอดคล้องผลประชามติ ภายใน 30 วัน แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ประเด็นนั้นสอดคล้องกันแล้วหรือไม่ ถ้าสอดคล้องกันแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วันแล้วประกาศใช้” นายวิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวว่า ประเด็นที่ 5. เมื่อ สปช. ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่กรรมาธิการฯ แก้ไขแล้วเสร็จ ให้ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ให้ยุบ สปช. พร้อมกับตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน  โดยสมาชิกอาจเคยเป็น สปช.หรือไม่ก็ได้ และให้ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปประเทศเพียงอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญอีก

ประเด็นที่ 6. หากประชาชนลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 36 คน สิ้นสุดสภาพทันที และให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  จำนวน 21 คน มีประธาน 1 คน กรรมการไม่เกิน 20 คน ทำหน้าที่ยกร่าง รัฐธรรมนูญและฟังความเห็นประชาชน ภายใน 6 เดือน และนำไปออกเสียงประชามติซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และ  ประเด็นที่ 7. การแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย

วิษณุ คาดว่าจะส่งร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ให้กับประธาน สนช. ได้ภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม  สนช.จะมีเวลาในการพิจารณา 15 วัน และทำได้แค่รับหรือไม่รับร่าง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้ และการให้ความเห็นชอบ สนช.ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่อยู่ คือ ไม่ต่ำกว่า 111 เสียง จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 15 วัน หลัง สนช.พิจารณาแล้วเสร็จ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะประกาศได้ภายในวันที่ 21-23 กรกฎาคม นี้” วิษณุ กล่าว

“การแก้ไขรัฐธรรนูญครั้งนี้ อาจทำให้เข้าใจยาก แต่ยืนยันว่าเป็นไปอย่างโปร่งใส  และหากศึกษาอย่างละเอียดจะเกิดความเข้าใจ” วิษณุ กล่าว

ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้กกต.เตรียมความพร้อมไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว  หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน ตามโรดแมปที่กำหนดไว้วันที่ 16 กันยายนนี้ ทาง สปช.จะต้องส่งต้นฉบับของร่างรัฐธรรมนูญมาให้กกต. จากนั้นวันที่ 30 กันยายน กกต.จะต้องจัดหาโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพเพียงพอจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 19 ล้านครัวเรือน  หรือร้อยละ 80 ครัวเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันคือภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน และแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษารายละเอียดภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน จากนั้นจะลงประชามติในวันที่ 10 มกราคม 2559

ศุภชัย กล่าวถึงกระบวนการเผยแพร่และทำความเข้าใจการทำประชามติ ว่า สามารถประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนได้แน่นอน เพราะเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ส่วนงบประมาณที่ใช้ทำประชามติคาดว่าประมาณ 3,000 ล้านบาท  ส่วนจะต้องแก้ไขประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศในการทำประชามติด้วยหรือไม่ต้องรอคณะรักษาความสงงบแห่งชาติ(คสช.)พิจารณาความเหมาะสม แต่หากมีส่วนใดที่ขัดต่อการทำหน้าที่ของกกต.อาจจะเสนอขอให้ คสช.แก้ไขประกาศดังกล่าว คาดว่าเมื่อใกล้ถึงเวลานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายจะแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์

“สำหรับการกำหนดประเด็นการตั้งคำถามในการทำประชามติเป็นหน้าที่ของสปช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ดำเนินการและเสนอต่อครม. หากครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคำถามที่เหมาะสม จะส่งมาให้กกต.ดำเนินการ ส่วนคำถามการทำประชามติไม่จำเป็นต้องมีเพียงแค่ 1 คำถามเท่านั้น  จะมีคำถามที่นอกเหนือไปจากการถามว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรรมนูญก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นคำถามที่ชี้นำหรือทำให้ประชาชนเกิดความสับสนหรือเข้าใจยาก หากมีคำถามที่ไม่เหมาะสม กกต.อาจตั้งข้อสังเกตแจ้งให้ครม.รับทราบได้  แต่เชื่อว่าครม.จะพิจารณาตั้งคำถามที่มีความเหมาะสมและรอบคอบ ผมอยากเห็นการทำประชามติที่สงบเรียบร้อย เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการปลุกระดมหรือชี้นำ  หากบุคคลใดชี้นำหรือปลุกระดมจะมีความผิดตามกฎหมาย” ศุภชัย กล่าว

ที่มา: ประชาไท