ในที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของคณะทหาร คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ก็เสร็จเรียบร้อย ด้วยการดำเนินการของคณะกรรมาธิการการร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ที่นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประเมินว่า คณะกรรมการนี้ใช้งบประมาณการร่างมากกว่า 3000 ล้านบาท(ตามการวิเคราะห์ของประชาชาติธุรกิจ 9 สิงหาคม 2558) ร่างรัฐธรรมนูญมี 285 มาตรา ลงลดจากฉบับต้นร่างที่มี 315 มาตรา แต่ยังคงเนื้อหาอันไม่เป็นประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าเดิม ขั้นตอนต่อไปจากนี้คือ การลงมติรับร่างของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งถ้าผ่านมติก็จะนำไปสู่การทำประชามติทั่วประเทศ
ในขณะนี้ มีสมาชิกสภาส่วนหนึ่ง ที่นำโดย นายวันชัย สอนศิริ เคลื่อนไหวที่จะให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยอธิบายว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว พบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ จึงจะขอไม่รับร่างเพื่อให้รัฐบาลทหารของคณะ คสช. เดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไปให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งหมายถึงว่า รัฐบาลเผด็จการทหารจะบริหารประเทศต่อไปได้อย่างน้อยอีก 2 ปีจึงค่อยมีการพิจารณาเรื่องการเลือกตั้ง นอกจากกลุ่มนี้แล้ว สมาชิกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังมีข้อทักท้วงในขั้นตอนและเนื้อหารัฐธรรมนูญหลายเรื่อง แต่กระนั้น ก็เป็นที่ประเมินว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะผ่านการลงมติของ สมาชิก สนช. อย่างแน่นอน เพราะการลงคะแนนไม่ผ่านจะสร้างความวุ่นวายทางการเมืองในกลุ่มชนชั้นนำมากกว่านี้
ดังนั้น ก็จะถึงเวลาที่ขบวนการฝ่ายประชาชนจะต้องตัดสินใจว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เรื่องการพิจารณาลงมติสนับสนุนให้ผ่านรัฐธรรมนูญคงไม่อาจเป็นไปได้ เพราะเนื้อหายากที่จะได้รับการยอมรับ เช่น ดังที่ จาตุรนต์ ฉายแสง อธิบายว่า รัฐธรรมนูญนี้ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะไม่สามารถบริหารประเทศตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพและจะถูกล้มไปได้โดยง่าย รัฐธรรมนูญนี้จึงวางระบบที่ออกแบบไว้เพื่อเปิดทางและเอื้ออำนวยให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีระบบการถอดถอนที่ทำลายหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุล คือ ให้วุฒิสภาที่มาจากการลากตั้งมีอำนาจถอดถอนทุกฝ่าย ให้อำนาจอย่างมากมายแก่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหลายจนสามารถล้มล้างรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากประชาชนได้ทั้งหมด และมีการวางระบบการสืบทอดอำนาจของ คสช.และกองทัพ โดยการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯควบคุมกำกับการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภาต่อไปอีกยาวนาน ไม่กำหนดอายุ
ความจริงประเด็นที่แย่ที่สุดประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากจนแทบจะทำไม่ได้ แต่กระนั้น เป็นที่เข้าใจกันดีในกลุ่มชนชั้นนำของประเทศไทยว่า หมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีความหมาย เพราะสามารถที่จะใช้ให้กองทัพก่อรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้เสมอ รัฐธรรมนูญที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.นี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่มีการประกาศใช้ในประเทศไทย แต่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นฉบับสุดท้าย เพราะยิ่งรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาแย่เท่าใด กำหนดให้มีการแก้ไขยากเท่าใด ก็กลายเป็นตัวเร่งการรัฐประหารฉีกทิ้งทั้งฉบับเร็วขึ้นเท่านั้น
สรุปแล้ว ในเฉพาะหน้านี้ ฝ่ายประชาชนคงจะต้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่จะไม่รับในลักษณะใดยังคงจะต้องเป็นประเด็นในการพิจารณา
ความเห็นหนึ่ง เสนอว่า ฝ่ายประชาชนควรจะคว่ำบาตรการลงประชามติ คือ โนโหวต นอนหลับทับสิทธิ์ไม่ไปร่วมกระบวนการที่จะสร้างความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า การลงประชามติไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์โปร่งใส ภายใต้ระบอบเผด็จการสุดขั้วของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายในเรื่องนี้ว่า ถ้าหากไปลงประชามติ และได้ผลคือคว่ำรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น เพราะยังต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ พ.ศ.2557 ที่มีมาตรา 44 ใช้อยู่ต่อไป แต่ถ้าคว่ำรัฐธรรมนูญไม่ได้คือ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการโหวตด้วยเสียงข้างมาก การไปลงคะแนนจะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทันที แต่ถ้ารณรงค์ให้ประชาชนไม่ไปลงประชามติ แล้วทำให้คนที่ไม่ไปลงมีจำนวนมากกว่า ก็สามารถบอกได้เช่นกันว่า ประชาชนไม่เอาด้วย
แต่อีกความเห็นหนึ่งเสนอว่า ควรจะรณรงค์ให้ไปลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มากที่สุด คือ โหวตโน หรือตั้งเป้าที่จะล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเสียงประชาชน โดยการลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เกี่ยงเนื้อหาเสียด้วยซ้ำ หมายถึงว่า ต่อให้นายบวรศักดิ์และคณะร่างรัฐธรรมนูญมางามหรูดีเลิศ ก็ต้องคว่ำ ตราบเท่าที่เป็นรัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่มาอันไม่ชอบธรรมตามหลักการสถาปนาอำนาจรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่า อำนาจสูงสุดต้องมาจากประชาชนเสมอ โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เห็นว่า ถ้าคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการลงประชามติ จะไม่เกิดผลในทางการเมืองเลย เพราะเท่ากับปล่อยให้กระบวนการของรัฐธรรมนูญชั่วคราวดำเนินไปอย่างลื่นไหลจนถึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาชนธิปไตยจะเป็นไปโดยไร้อุปสรรค บทเรียนครั้งสำคัญ คือ การเคลื่อนไหว “โหวตโน” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง พ.ศ.2554 ที่กลายเป็นการละทิ้งเวทีการต่อสู้และทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองไปในที่สุด
สำหรับผู้เขียนเอง ก็ยังสนับสนุนการไปร่วมลงประชามติโหวตโน คือ ไม่รับรัฐธรรมนูญ แทนที่จะนอนหลับทับสิทธิ์ โดยถือว่า การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่ก็มีการอธิบายว่า ถ้าหากโหวตโน คือ การลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการช่วยให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะ คสช.อยู่ในอำนาจต่อไป เพราะจะต้องนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีก ซึ่งก็จะออกมาลักษณะเดิม ในกรณีนี้ ฝ่ายประชาชนต้องยืนยันว่า การลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น คือ การแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการรัฐประหาร ถือว่า การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นโมฆะ จึงเท่ากับว่า สถานะแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ยังคงอยู่ การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอื่นหลังจากนั้น ก็คือหลักการว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีความชอบธรรม แม้ว่าจะมีส่วนใดไม่ถูกต้องเหมาะสม ต้องดำเนินการด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตย การใช้อำนาจทหารมาฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าประชาชนไม่รับรัฐธรรมนูญ คณะ คสช.ทั้งหมด ต้องพิจารณาความชอบธรรมของตนเอง และดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด
แต่ประเด็นในทางวิธีการคงยังแลกเปลี่ยนถกเถียงกันต่อไปได้ มีเพียงแต่ข้อเสนอประเภทที่ว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกใจประชาชน คงเป็นข้อเสนออันเหลวไหล ที่ไม่อาจยอมรับได้
ที่มา: ประชาไท