4 กรกฎาคม 2559 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับความรับรู้เบื้องต้นของประชาชนเกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่งผลสำรวจชุดนี้ เป็นการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ ด้วยวิธีการสุ่มถามประชาชนในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัด โดยผู้สำรวจสอบถามคนที่ทั้งรู้จักและไม่รู้จัก ที่มีโอกาสได้พบเจอในชีวิตประจำวัน จากหลากหลายอาชีพและช่วงอายุ
จากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 158 ตัวอย่าง แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 68 ตัวอย่าง เพศหญิงจำนวน 83 ตัวอย่างและเพศอื่นๆ (LGBTIQ) จำนวน 7 ตัวอย่าง โดยสำรวจ 3 คำถามคือ
หนึ่ง ทราบหรือไม่ว่ามีการลงประชามติวันที่เท่าไหร่
สอง ทราบหรือไม่ว่าการลงประชามติคือเรื่องเกี่ยวกับอะไร
สาม ทราบหรือไม่ว่าคำถามพ่วงคือเรื่องเกี่ยวกับอะไร
เมื่อสรุปข้อมูลพบว่า ร้อยละ 70.25 ไม่ทราบว่าวันที่ลงประชามติอย่างถูกต้อง, ร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 92.41 ไม่ทราบว่าคำถามพ่วงคืออะไร
ขณะที่เมื่อสอบถามต่อไปจะเห็นว่า คำถามที่หนึ่ง ทราบหรือไม่ว่ามีการลงประชามติวันที่เท่าไหร่ กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ทราบให้เหตุผลว่า ไม่ได้ติดตามหรือมีความสนใจในข่าวสารทางการเมืองเลย ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ทราบให้เหตุผลว่า ติดตามข่าวสารในประเด็นดังกล่าวมาตลอด
ขณะที่คำถามที่สาม ทราบหรือไม่ว่าคำถามพ่วงคือเรื่องเกี่ยวกับอะไร กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดแทบจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่าคำถามพ่วงหรือได้ยินว่ามีคำถามพ่วง มีบางส่วนเท่านั้นที่ทราบว่าจะมีคำถามพ่วงด้วยแต่ก็ไม่ทราบว่าคำถามพ่วงจะถามว่าอะไร
ในการวิเคราะห์แบ่งกลุ่มตามช่วงอายุพบว่า อายุระหว่าง 51-60 มีค่าเฉลี่ยรวมดีที่สุด ร้อยละ 31.25 รองลงมาคืออายุระหว่าง 41-50 ปี ร้อยละ 31.11 และอันดับที่สามคือ อายุระหว่าง 18-30 ปีอันเป็นกลุ่มตัวอย่างมากที่สุดในผลสำรวจนี้ ร้อยละ 30.90 นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่า กลุ่มตัวอย่างที่สอบถามหลายคน เมื่อถามว่าทราบหรือไม่ว่าจะเป็นการลงมติเรื่องอะไร ก็ยังพอทราบว่าจะมีการลงประชามติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทราบว่าการลงประชามติจะมีขึ้นเมื่อไร
จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ให้ความเห็นต่อผลสำรวจดังกล่าวว่า แม้การสำรวจของเราจะเป็นการสำรวจประชากรในขนาดจำกัดและคงไม่สามารถถือได้ว่าเป็นตัวแทนของประชากรทั้งประเทศ แต่ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นชัดถึงการขาดข้อมูลในหมู่ประชาชน
“...ที่น่าตกใจมากคือผู้ที่เราสำรวจกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ทราบเลยเรื่องประเด็นคำถามพ่วงซึ่งหากการขาดการรับรู้ในเรื่องคำถามพ่วงยังคงเป็นเช่นนี้ในวันออกเสียงประชามติ จะเป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังขาดข้อมูลเพียงพอที่จะตอบคำถามประชามติได้อย่างเข้าใจประเด็น ในเรื่องนี้เราอาจต้องตั้งคำถามว่าหากประชาชนถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงข้อมูลแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่?...” จอนกล่าวทิ้งท้าย