สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ

สิทธิเสรีภาพของประชาชน  และหน้าที่ของรัฐ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ เขียนหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 อย่างน่าสนใจ โดยเปลี่ยนสิทธิของประชาชนบางอย่างจากที่เดิมเคยกำหนดให้เป็น "สิทธิ" ย้ายไปไว้ในหมวด "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยก็เชื่อว่าการบังคับให้รัฐต้องทำนั้นจะเกิดผลจริงได้มากกว่า ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็คิดว่า โดยหลักการแล้วต้องเป็นสิทธิ [อ่านหลักการเปลี่ยนจาก "สิทธิ" เป็น "หน้าที่ของรัฐ คลิกที่นี่]

จุดเด่นอีกประการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ เขียนไว้ชัดเจนว่า อะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้เป็นสิทธิเสรีภาพที่จะทำได้ และได้รับการคุ้มครอง หลักการนี้เป็นหลักการที่ใช้ทั่วไปอยู่แล้วเพียงแต่ไม่เคยเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน ขณะเดียวกันก็เพิ่ม "ข้อจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพ" ขึ้นมาใหม่อีกสองข้อคือ "ความมั่นคงของรัฐ" และ "ความสงบเรียบร้อย" จึงพอจะกล่าวได้ว่า ภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพได้เต็มที่หากไม่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ และข้อจำกัดอื่นๆ  ส่วน คำว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ถูกจัดวางใหม่ให้รัฐห้ามออกกฎหมายที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่ตัดบทบัญญัติที่ให้ประชาชนยกขึ้นอ้างเองได้ [อ่านภาพรวมข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพ คลิกที่นี่]

สิทธิเสรีภาพ ในประเด็นเฉพาะแต่ละเรื่องก็มีหลายเรื่องที่มีข้อถกเถียงกันร้อนแรง

เรื่องสิทธิการศึกษา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนให้รัฐจัดการศึกษาฟรีตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียนจนถึงม.3 หลังจากนั้นให้จัดตั้งกองทุนสำหรับผู้ขาดแคลน ใครไม่ขาดแคลนก็ต้องจ่ายค่าเรียนเอง รัฐไม่จ่ายให้ ซึ่งหลักการนี้เป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่สิทธิของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดแนวทางการศึกษา ให้มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัด [อ่านประเด็นการศึกษา คลิกที่นี่]

เรื่องสิทธิทางสาธารณสุข คำว่า "สิทธิเสมอกัน" ถูกตัดออกไป ทำให้หลายคนกังวลว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเปิดช่องให้ยกเลิกโครงการ "30บาท" ที่ใช้กันมานาน ด้าน กรธ. ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่ใช่ แต่ตรงกันข้ามร่างรัฐธรรมนูญนี้ขยายความคุ้มครองไปถึงสิทธิหญิงตั้งครรภ์ จึงได้ชื่อว่า "คุ้มครองต้องแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า" ขณะที่สิทธิคนพิการ และการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวย้ายจากหมวด "สิทธิ" ไปเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องจัดให้ [อ่านประเด็นสาธารณสุข คลิกที่นี่]

เรื่องสิทธิผู้บริโภค สิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง ถูกย้ายไปเป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดให้ และสิทธิร้องเรียนเมื่อได้รับความเสียหายซึ่งจริงๆ มีอยู่แล้วตามกฎหมายอื่น ไม่ถูกเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประเด็นหัวใจใหญ่ที่กังวลกัน คือ องค์กรภาคประชาชนเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคมานานกว่า 19 ปี แล้ว แต่ร่างนี้ไม่เขียนให้องค์กรอิสระต้องจัดตั้งขึ้น เขียนเพียงเป็นสิทธิที่จะตั้งก็ได้ [อ่านประเด็นผู้บริโภค คลิกที่นี่]

เรื่องสิทธิแรงงาน ก็มีข้อวิจารณ์อีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้คำว่า "ค่าจ้างที่เหมาะแก่การดำรงชีพ" แทนคำเดิมที่ว่า "ค่าจ้างที่เป็นธรรม" ทำให้มีคนกังวลว่า "ค่าแรงขั้นต่ำ" ตามกฎหมายจะยังมีอยู่หรือไม่ สิทธิรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน และข้าราชการ ก็ถูกตัดออกไปจากร่างนี้ ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน และเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณ [อ่านประเด็นแรงงาน คลิกที่นี่]

เรื่องสิทธิทางสิ่งแวดล้อม แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จัดการ และรักษา แต่ก็ไม่เขียนเรื่องสิทธิในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งเคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ไม่เขียนสิทธิของประชาชนที่จะแสดงความคิดเห็นต่อโครงการต่างๆ และไม่เขียนให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบโครงการของรัฐอีกต่อไป [อ่านประเด็นสิทธิทางสิ่งแวดล้อม คลิกที่นี่]

เรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ กรธ.ไม่ได้เขียนว่า "พระะพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" เพราะเห็นว่า อันตรายเกินไป แต่เขียนว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ให้รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยถ้อยคำที่บอกว่า รัฐต้องส่งเสริมความสมานฉันท์ระหว่างทุกศาสนาด้วย และห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุการนับถือศาสนา ถูกตัดออกไป [อ่านประเด็นศาสนา คลิกที่นี่] 

 

 

 

-------------------------------

สถาบันทางการเมือง และการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

ตามระบบปกติ ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองที่สมัครรับเลือกตั้ง เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 3 คน ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจุดที่ กรธ. ใช้อธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำให้เราเห็นชื่อคนที่จะเป็นนายกฯ ล่วงหน้าได้ แต่ขณะเดียวกันร่างนี้ก็ยังเปิดช่องไว้ว่า หากมีเหตุให้ไม่สามารถตั้งนายกฯ จาก 3 รายชื่อดังกล่าวได้ ให้ส.ส. และส.ว. ประชุมร่วมกัน อนุมติให้ตั้งคนอื่นนอกจาก 3 รายชื่อดังกล่าว เป็นนายกฯ ได้ ซึ่งเป็นจุดที่ถูกโจมตีว่า ร่างฉบับนี้กำลังจะเปิดทางให้มี "นายกฯ คนนอก" [อ่านประเด็นนายกฯ คนนอก คลิกที่นี่]  

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ลงประชามติ ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่คิดขึ้นมาใหม่ ให้มี ส.ส. 500 คน มาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน มี ทุกเขตมี ส.ส.ได้ 1 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวให้ประชาชนกาเลือกผู้สมัครที่ชื่นชอบ และคะแนนนั้นมีผลเลือกพรรคการเมืองของผู้สมัครคนนั้นด้วย คะแนนทั้งประเทศที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจะนำไปคำนวณเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นควรจะมี และนำมาหักลบกับที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตที่พรรคนั้นมี ก็จะได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

กรธ.เชื่อว่า ระบบเลือกตั้งนี้จะช่วยให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย ขณะที่หลายฝ่ายสะท้อนว่า ระบบเลือกตั้งแบบนี้ จะส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ มีโอกาสที่จะซื้อเสียงมากขึ้น และไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียง ฯลฯ [อ่านเรื่องระบบเลือกตั้ง คลิกที่นี่]

สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในวาระเริ่มแรกให้คสช. คัดเลือกทั้ง 250 คน  แต่หลังจากนั้นจะเหลือ 200 คน ให้มาจากการคัดเลือกกันเองของแต่ละกลุ่มอาชีพโดยไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งรายละเอียดการแบ่งกลุ่มนั้น กรธ. ยังไม่เขียน แต่จะไปเขียนในกฎหมายลูก อำนาจพิเศษของ ส.ว. ตามร่างนี้ คือ การตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมือง ตรวจสอบการแปรญัตติงบประมาณ [อ่านที่มาและอำนาจส.ว. คลิกที่นี่]

คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน ร่างรัฐธรรมนูญนี้วางคุณสมบัติของรัฐมนตรี ไว้เข้มงวดอย่างมาก และตีกรอบให้ ครม. ต้องวางนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้โดย คสช. โดยให้องค์กรอิสระมีอำนาจทักท้วงการทำงานได้ หากครม.พ้นจากตำแหน่งเพราะแปรญัตติงบประมาณที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย ระหว่างรอเลือกชุดใหม่ ให้ปลัดกระทรวงต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมตรีแทน [อ่านเรื่องคณะรัฐมนตรี คลิกที่นี่]

 

-------------------------------

ศาล และกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ
 
กลไกการ "ปราบโกง" แบบใหม่ๆ เป็นจุดขายสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เชื่อว่าเป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อปราบการทุจริตจากสังคมไทย จุดหลักเลย คือ กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ว่าต้องไม่เคยถูกตัดสินว่าทุจริตมาก่อน ซึ่งจะทำให้ทักษิณ ชินวัตร กลับมาสู่การเมืองอีกครั้งไม่ได้ เพิ่มอำนาจใหม่ให้ กกต. มีอำนาจแจก "ใบส้ม" หรือระงับสิทธิการลงสมัครเลือกตั้งชั่วคราว ยังมีเรื่องการให้องค์กรอิสระยื่นถอดถอนนักการเมือง การกำหนดวินัยการเงินการคลัง กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ไม่ร่วมมือกับการทุจริต ฯลฯ และการเขียนมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ข้ออ่อนสำคัญ คือ ร่างนี้เลิกให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริต [อ่านเรื่องกลไกปราบโกง คลิกที่นี่]

"มาตรฐานจริยธรรม" เป็นกลไกใหม่อย่างหนึ่งที่โดดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญนี้ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาภายใน 1 ปี ใครที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จะถูก ป.ป.ช. สอบสวน หากเห็นว่ามีความผิดก็จะเสนอต่อศาลฎีกา หากมีคำพิพากษาว่าผิดจริง ต้องพ้นจากตำแหน่ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีอีกด้วย [อ่านเรื่องมาตรฐานจริยธรรม คลิกที่นี่]

ตัวละครที่จะมีบทบาทมากในความฝันปราบโกง ก็คือ ศาลและองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายบทบาทมากขึ้นในร่างฉบับนี้ เช่น มีอำนาจเรียกประชุมเพื่อหาทางออกในกรณีที่ประเทศเข้าสู่วิกฤติ ขณะที่ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มสัดส่วนข้าราชการเก่า 2 คนและลดสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิลง [อ่านเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ คลิที่นี่] ส่วนองค์กรอิสระตามร่างนี้ ก็มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการไม่ใช่คนที่มีฐานะเป็นตัวแทนประชาชน [อ่านเรื่องที่มาองค์กรอิสระ คลิกที่นี่]

 

 

-------------------------------

การปฏิรูปประเทศ 
 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนหมวดปฏิรูปไว้โดยเฉพาะ โดยตั้งประเด็นไว้เป็นหลักการกว้างๆ ซึ่งค่อนข้างเลื่อนลอยยังไม่เป็นรูปธรรม เช่น ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยแก้ไขหน้าที่ตำรวจให้เหมาะสม ปฏิรูปเศรษฐกิจโดยให้มีระบบจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม ให้ คสช. มีอำนาจตั้งกรรมการขึ้นมาสองชุด คือ ชุดปฏิรูปการศึกษา และชุดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กลไกอีกอย่างหนึ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ คือ ให้คสช.เขียน "ยุทธศาสตร์ชาติ" ภายใน 120 วัน เริ่มใช้ภายใน 1 ปี และผูกพันนโยบายของรัฐบาลหน้า ต้องเห็นผลภายใน 5 ปี มีส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช. ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบให้รัฐบาลต่อไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ [อ่านเรื่องการปฏิรูปประเทศ คลิกที่นี่]

 

-------------------------------

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 

เนื้อหาเรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมาก เพราะประสบการณ์ประชามติปี 2550 มีการพูดกันว่าให้โหวตรับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง แต่ในปี 2559 มีบริบทต่างไปเพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้ ถูกออกแบบมาว่าถ้าผ่านแล้วการแก้ไขจะยากมาก โดยส.ว.ต้องเห็นชอบด้วย 1 ใน 3 และพรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีส.ส. โหวตให้ร้อยละ 20 หมายความว่าถ้า ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคสช. ไม่เห็นด้วย หรือมีแม้แต่พรรคการเมืองเดียวที่ไม่เห็นด้วย ก็จะแก้ไขไม่ได้ 

ในประเด็นซึ่งเป็นหัวใจของร่างนี้ เรื่องคุณสมบัตินักการเมือง อำนาจหน้าที่ศาลและองค์กรอิสระ หากจะแก้ไขต้องผ่านประชามติก่อน และศาลรัฐธรรมนูญยังอาจเข้ามาวินิจฉัยว่า ห้ามแก้ไขในประเด็นที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐ [อ่านประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คลิกที่นี่]

 

 

------------------------------- 

บทเฉพาะกาล

บทเฉพาะกาลแม้จะเขียนไว้ส่วนหลังสุด แต่เป็นส่วนที่ถูกวิจารณ์สูงที่สุดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บทเฉพาะกาลได้กำหนดให้ตัวละครทางการเมือง ทั้งคสช. รัฐบาลปัจจุบัน สนช. สปท. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ประเด็นที่สังคมกังวลกันมาก เช่น การกำหนดให้ 5 ปีแรก ส.ว. มี 250 คน ซึ่งให้คสช. คัดเลือกทั้งหมด และบรรดาผู้นำเหล่าทัพ 6 คน เป็น ส.ว. โดยอัตโนมัติตามตำแหน่ง หรือ การกำหนดให้ กรธ. ยังอยู่ต่ออีก 8 เดือน เพื่อร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับเองทั้งหมด

หากไล่ดูกำหนดการตามบทเฉพาะกาลแล้วพบว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ กระบวนการต่างๆ ก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 16 เดือน ถึงจะนำไปสู่การเลือกตั้งซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วในเดือนธันวาคม 2560 ระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ ทำให้ คสช. ถูกมองว่า จงใจจะอยู่ในอำนาจต่อให้ยาวที่สุด และทำให้การทำประชามติไม่ส่งผลให้ไปสู่การเลือกตั้งได้โดยเร็ว

ประเด็นในมาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญ อาจเป็นประเด็นที่คนกังวลมากที่สุด คือ การกำหนดให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำที่ผ่านมาของ คสช. ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและให้มีผลบังคับใช้ต่อไป หากจะยกเลิกต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติและประกาศใช้ จึงเท่ากับเป็นประชามติที่รับรองความชอบธรรมให้ประกาศ คำสั่ง และการใช้อำนาจต่างๆ ของคสช. ชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยาย