อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวถึงความกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชามติ 7 สิงหาคมนี้ ในประเด็นเรื่องที่ดินเกษตรกรว่า เรื่องที่ดินนั้นมีการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานครอบคลุมคนยาก คนจน ซึ่งเป็นมวลชนจำนวนใหญ่ที่สุด แต่ไม่รู้ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตระหนักในปัญหานี้หรือไม่ เพราะเห็นได้จากรูปธรรรมของความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมาก คือที่ดินเป็นสินค้าในตลาดทุนนิยมและที่ดินถูกดูดไปอยู่ในมือคนรวยเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจน แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนชัดว่าให้รัฐกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีความพยายามมีนโยบายทำเรื่องนี้อยู่ แต่มันไม่เป็นผล
แต่อีกด้านหนึ่งก็จะเห็นการซื้อขายที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ขนาดที่รู้อยู่ว่าโดยกฎหมาย ที่ดินส.ป.ก. เป็นที่ดินของรัฐการซื้อขายเป็นโมฆะ ซึ่งเขียนไว้ชัด แต่การซื้อขายก็ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้นมันต้องการหลักประกันที่จะรักษาที่ดินให้อยู่ในมือของผู้ที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นชาวบ้าน ที่เป็นคนในฐานชุมชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ มันถึงจะรักษาไว้ได้
“ผมคิดไปถึงรูปธรรมขนาดว่า จะต้องเอาที่ดินการเกษตรของเกษตรกรรายย่อย ของชาวบ้าน ออกจากการขายทอดตลาดสักที คือเกษตรกรตกอยู่ในโครงสร้างของเศรษฐกิจการตลาดที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะปลูกอ้อย ทำนา ปลูกมัน จุดจบคือสูญเสียที่ดิน เพราะฉะนั้นมันต้องการหลักประกันในระดับว่าไม่ควรจะเอาที่ดินการเกษตรออกจากการบังคับขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าปฏิเสธการชำระหนี้ แต่ว่าการเรียกเก็บหนี้หรือการหาทางให้เกษตรกรชำระหนี้ต้องสร้างขึ้นมา ไม่ใช่การไปบังคับขายที่ดินผืนสุดท้ายของครอบครัว มันทำให้อาชีพการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรสิ้นสุดลง รุ่นลูกไม่มีที่ดิน เพราะฉะนั้นเราต้องการหลักประกันในร่างรัฐธรรมนูญให้เกษตรกรผู้ที่ประสงค์จะดำรงชีพกับการเพาะปลูก ไม่ใช่ปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าในระบบตลาดทุนนิยมแล้วก็ไหลไปอยู่ในมือคนรวย”
“ผมเห็นว่าปัญหาที่ดินจะอยู่ในวังวนเดิมๆ ในรัฐธรรมนูญพูดถึงการกระจายที่ดินกับการคุ้มครองที่ดินเกษตรกรรม ... แต่ว่าไม่มีหลักประกันที่จะกระจายการถือครองให้คนยากคนจน ... ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นต้นทางของความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลนี้ใช้อ้างในรัฐประหาร มันจึงควรจะเริ่มต้นให้ชัดเป็นรูปธรรม”
ความกังวลถ้าประชามติ 7 สิงหาคมนี้ผ่าน อุบล กล่าวว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ปัญหาที่ดินจะอยู่ในสถานการณ์เดิม พี่น้องเกษตรกรต้องกลับมาสู่ขบวนการเรียกร้องที่จะแก้ปัญหา เพราะปัญหาที่ดินก็จะยังอยู่ในวังวนเดิม รัฐธรรมนูญเขียนไว้กว้างๆ ว่าให้รัฐเป็นผู้กระจายการถือครองที่ดิน ดังนั้น มันขึ้นอยู่กับน้ำหนักการต่อสู้ของประชาชน แม้รัฐบาล คสช. จะมีการขยับนิดหน่อยให้มีการจำกัดการถือครอง แต่กลุ่มผู้ลงทุนก็ออกมาขวางทางแล้ว พวกผู้ลงทุนพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็จะขวางและบอกว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ปฏิเสธการลงทุน แต่ควรจะมีข้อยกเว้นเอาไว้ว่าให้พื้นที่เกษตรกรรม การครอบครองที่ดินทั่วไปของคนมีเงินน่าจะมีเพดาน ไม่อย่างนั้นที่ดินก็จะหลุดไปอยู่ในมือคนรวยหมด
“ผมเห็นว่าปัญหาที่ดินจะอยู่ในวังวนเดิมๆ ในรัฐธรรมนูญพูดถึงการกระจายที่ดินกับการคุ้มครองที่ดินเกษตรกรรม ซึ่งในระดับปฏิบัติคิดว่าจะขึ้นกับน้ำหนักในการต่อสู้ภาคประชาชนที่จะผลักนโยบายรัฐบาล แต่ว่าไม่มีหลักประกันที่จะกระจายการถือครองให้คนยากคนจน คนเล็กคนน้อยมีโอกาสครอบครองที่ดิน ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นต้นทางของความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลนี้ใช้อ้างในรัฐประหาร มันจึงควรจะเริ่มต้นให้ชัดเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องการมาตรการที่ชัดเจน
“ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน ผมเสนอว่าภาคประชาชนจะต้องผนึกกำลังกันให้แน่น เพื่อยืนยันที่จะไม่ยอมในระดับหลักการ ภาคประชาชนจะยุ่งยากขึ้น แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็มีเหตุมีผลที่จะต่อรองถึงขั้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่น่าจะทำให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น” อุบล กล่าว
อุบล กล่าวต่อว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ปัญหาที่ดินจะอยู่ในวังวนเดิมๆ แต่แนวนโยบายที่รัฐวางไว้นั้นจะมีความน่ากังวล ซึ่งจะกระทบกับเกษตรกรรายย่อยที่ขาดหลักประกันและความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินที่เป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ
“รัฐบาลนี้เปิดทางให้ทุนมาก ยุทธศาสตร์ที่รัฐวางไว้ในแผนพัฒนาฯ ก็พูดว่าเอาเศรษฐกิจเป็นหลัก นั้นหมายถึงการจูงมือผู้ลงทุนมาทำการผลิตนู่นนี่ โดยสร้างความหวังเรื่องการแข่งขันของประเทศ แต่ด้านการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรไม่ได้ทำเลย การทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและสามารถต่อรอง ไม่ได้ทำ ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เอื้อให้กับเกษตรกร พูดสรุปคือเกษตรกรพันธะสัญญาจะขยายตัวไปหลายสาขาโดยที่แนวทางในการสร้างหลักประกันและความเป็นธรรมแก่เกษตรกรยังไม่มี”
ที่มา: ประชาไท