เครือข่ายประชาชนประกาศ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

ชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า “พวกเราพาสังคมเดินมาถึงจุดที่ได้รับสิทธิถ้วนหน้า หลุดพ้นจากการสงเคราะห์มาแล้วกว่า 15 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มีการเลือกว่าคนรวยหรือจน ฉะนั้น ณ วันนี้ การที่รัฐจะมาออกนโยบายขึ้นทะเบียนคนจนเป็นการตีตราแบ่งแยกชนชั้นประชาชน ทั้งที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เราต้องเท่าเทียมกัน รัฐมีหน้าที่ต้องจัดสวัสดิการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน”

“ปัจจุบันรัฐมีสวัสดิการแล้วสามเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญควรรับรองสิทธิถ้วนหน้าจากรัฐ แต่มาตรา 47และ 48 เห็นว่ามีการแบ่งแยก ทุกมาตรามีคำว่า ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร”

“เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานและลดทอนผู้ยากไร้ เป็นการสงเคราะห์ เป็นการตีตราคนจน การลงทะเบียนคนจนจะทำให้สวัสดิการทั่วหน้าไม่มีอีกต่อไป เครือข่ายฯ จึงขอประกาศว่าเราไม่เห็นชอบร่างร่างรัฐธรรมนูญที่เลือกปฏิบัติและลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

 

ไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าวว่า “ตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 ที่มีการยึดอำนาจ สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย แต่หลังจากวันนั้นเกือบสองปีเราแทบไม่มีเวทีพูดคุยกับประชาชน วันนี้เราของแถลง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวคนจน”

เขากล่าวว่า จากการที่ คสช. ยึดอำนาจ 26 เดือนมาแล้ว ผลการบริหารงานก่อให้เกิดความเดือดร้อนและละเมิดสิทธิคนจนำนวนนมาก เช่น โครงการทวงคืนผืนป่า โครงการสร้างเขื่อน การไล่รื้อคนจนเมือง การไม่อุดหนุนราคาผลผลิตการเกษตร การปล่อยให้แรงงานถูกเลิกจ้างโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือ มีการเรียกตัวผู้นำชาวบ้านไปปรับทรัศนคติ มีความพยายามจะยกเลิกสวัสดิการของประชาชน เช่น การให้ร่วมจ่ายในหลักประกันสุขภาพ การปลดคณะกรรมการประสังคม การพยายามลดค่าตอบแทนผู้สูงอายุ การพยายามขึ้นทะเบียนคนจน และยังแต่งตั้ง สนช. สปท. ออกกฎหมายที่ทำร้ายและลิดรอนสิทธิคนจน เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้ง กรธ. ที่ร่างรัฐธรรมนูญสามานย์ฉบับนี้ พยายามเปิดช่องให้มีนายกฯ จากคนนอก ตระเตรียมเป็นกระบวนการให้มีบทเฉพาะกาล ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจเลือกนายกฯ

“พวกเราไม่สามารถไว้ใจและรับรองร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ ดังนั้น 7 ส.ค.นี้เราจะไปโหวตโน”

 

จำนงค์ หนูพันธ์ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เมื่อเกิดรัฐประหารสลัมสี่ภาคไม่ยอมรับมาตลอด เมื่อมาเจอเรื่องร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาหลายเรื่อง สิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานเราก็ไม่มี เราจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนว่า ร่างรรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน คลุมเครือทุกอย่าง และเรื่องของพรรคการเมืองก็ปิดกั้นทุกอย่าง แล้วยังมาวางยุทธศาสตร์ยาวให้ประเทศชาติอีก เราจึงขอแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และขอแถลงว่า คนสลัมรู้ทันร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ลดอำนาจประชาชน ลดความสำคัญของการเลือกตั้ง ขอแถลงท่าทีว่า 1. เห็นว่ากระบวนการก่อนลงประชามติ รัฐไม่มีความจริงใจให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลเนื้อหาอย่างรอบด้าน เนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลับไม่ถูกกล่าวถึง 2.เราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งทำให้คนทุกคนมีส่วนกำหนดตัวนายกฯ และนโยบายที่ประชาชนต้องการ

อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า จะโหวตไม่เห็นชอบ เพราะสิทธิเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติในทันที ไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะหยิบยื่นให้ เอาสิทธิจำนวนมากไปเขียนในแนวนโยบายแห่งรัฐ “สิทธิมีได้ตามวิธีการและกฎหมายบัญญัติ” เครือข่ายขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ทำกินกับการเพาะปลูกต้องได้รับสิทธิที่จะมีที่ดินทำกิน ประเด็นนี้เราทำไม่สำเร็จ เช่น กรณี สปก. ที่ห้ามซื้อขายแต่ก็ยังทำกันทั้งแผ่นดิน ทำให้เห็นว่าต้องมีหลักประกันในระดับรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่สอง สิทธิการถือครองปัจจัยการผลิต เราล่อแหลมว่าจะมีกฎหมายละเมิดต่อวัฒนธรรมชุมชน สิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนต้องไปด้วยกัน

 

กนกพร สบายใจ ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า เรื่องการศึกษาทางเลือกได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ร่างนี้ตัดทิ้งไป โดยที่เราไม่เข้าใจทั้งที่มันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากล ในกฎหมายใหญ่ควรเขียนเรื่องหลักการที่จะให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกการศึกษาและหลักการที่จะได้รับการสนับสนุนสวัสดิการที่ถ้วนหน้าที่รัฐจัดให้ ยังมีปัญหารวมศูนย์จัดการศึกษาไว้ทุกด้านทุกระบบไว้ที่รัฐ สิ่งที่ควรทำคือ ควรร่างให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, สิทธิมนุษยชน, เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เป็นกลไกหลักของสากล ที่ระบุเรื่องการศึกษาไว้ชัดเจน ทั้งนี้ มีข้อเสนอ คือ หนึ่ง การจัดการศึกษาเป็นสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยได้ สอง รัฐส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับจัดการศึกษาได้ สาม เด็กและผู้เยาว์ควรได้รับสิทธิในการไม่เลือกปฏิบัติ สี่ รัฐธรรมนูญควรบัญญัติสาระหลักตามกติกาสากลที่ไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะการส่งเสริมสิทธิต่างๆ เขียนหลักการไว้อย่างชัดแจ้ง และไม่เปิดช่องให้กฎหมายลูกบัญญัติบิดพริ้วไปจากหลักสากล

สุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า หลังรัฐประหารมีการปิดกั้นคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนในวงกว้าง คำสั่งเรื่อง สปก. จริงๆ แล้วพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของเกษตรกร รวมแล้วไม่น้อยกว่าพันครอบครัว ออกโดยมาตรา 44 สื่ออาจเห็นว่าเป็นเรื่องไล่นายทุน แต่ในพื้นที่สุราษฎร์นั้นไม่ใช่ การขับไล่คนจนออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่และทำกิน จะทำให้คนเหล่านี้เป็นแรงงานเร่ร่อนรับจ้าง จึงขอประกาศจุดยืน 1. ร่างนี้ลดทอนทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย 2.ร่างนี้ทำให้พื้นที่ทางการเมืองถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ ลดทอนจนประชาชนไม่เหลือพื้นที่มีส่วนร่วมในทางการเมือง 3.ระบอบราชการจะเป็นใหญ่ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเพราะถูกควบคุมจากองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้ง 4.การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะจะถูกปิดกั้น 5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ จะถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ  6. ไม่มีการรับรองสิทธิเกษตรกรและไม่คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พร้อมขอเรียกร้องเร่งด่วนให้ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 ต้องการให้กองทัพหรือทหารหยุดแทรกแซงการทำงานของระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย สกต.ขอประกาศต่อสาธารณะว่าไม่สามารถรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

มังโสด  มะเต๊ะ ในฐานะประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ร่างนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่กำลังทำให้คนทั้งประเทศได้รับการศึกษาน้อยลง และทำให้คนสามจังหวัดแตกแยกครั้งใหญ่ในอนาคต เนื่องจากมาตรา 54 ที่ระบุว่ารัฐต้องจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล นอกจากนี้ ยังมีท่อนหนึ่งบอกว่าทุกคนต้องมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ “ต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเขียนเช่นนี้ ฉบับอื่นบอกว่า รัฐต้องส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนต่างศาสนา แปลว่าอะไร ถ้าพี่น้องผมจะรวมตัวกันละหมาดที่มัสยิด ถ้ามีคนพูดว่าเป็นภัยต่อรัฐ จะทำอย่างไร มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แต่ในเรื่องการศึกษาศาสนา ไม่ระบุถึงศาสนาอื่น นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว เขามองว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม การฉีกรัฐธรรมนูญที่ดีแล้วเอารัฐธรรมนูญร้ายมาให้ เป็นเรื่องรับไม่ได้ พร้อมชี้ว่ารัฐธรรมนูญต้องไม่เขียนเพื่อประโยชน์ทับซ้อนของตัวเอง เช่น กรณีเขียนให้ ส.ว.มาจาก คสช. และอยู่ในตำแหน่งหลายปี สุดท้าย ย้ำว่า การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปอย่างมีเสรีภาพและเป็นธรรม

ที่มา: ประชาไท