เกินตัวบท? ปัญหาการตีความคำถามพ่วงกับอำนาจเสนอชื่อนายกฯ

ช่วงนี้ คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. กำลังเตรียมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงประชามติที่เขียนไว้ว่า

 

"ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า
ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควร ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

 

ทั้งนี้ ใจความสำคัญของคำถามพ่วงก็คือ "ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ส.ว. สรรหาโดยคสช. มีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส."

อย่างไรก็ดี พอคำถามพ่วงผ่านกลับมีปัญหาการตีความคำถามพ่วงโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ว่า "คำว่าให้ความเห็นชอบนั้น ถือว่า ส.ว. มีอำนาจเสนอชื่อนายกฯ ด้วยหรือไม่ หรือควรถูกจำกัดไว้แค่การพิจารณาให้ความเห็นชอบจากบุคคลที่ ส.ส. เป็นคนเลือกมา"

 

โดยผู้ที่ออกมาสนับสนุนแนวทางนี้ก็เช่น

"เสรี สุวรรณภานนท์" สมาชิก สปท. ที่ให้ความเห็นในทำนองว่า "ถ้าให้อำนาจแค่พิจารณาแต่ไม่ให้อำนาจเสนอชื่อ จะถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน"

ด้าน "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช. ก็ออกมาให้ความเห็นอีกว่า "คำว่าพิจารณาให้ความเห็นชอบ หมายถึงกระบวนการทั้งหมดไม่ใช่โหวตลงมติเพียงอย่างเดียว..."

มิใช่แค่นั้น ยังมี  "พล.อ.นพดล อินทปัญญา" สมาชิก สนช. อีกคน ที่สนับสนุนการตีความดังกล่าวว่า "คำถามพ่วงจะมีผลให้แก้ไขในบทเฉพาะกาล ม.272 แม้มาตราดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิโดยตรงกับ ส.ว. ในการเสนอชื่อนายกฯ แต่ สนช. ส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเมื่อเมื่อคำถามพ่วงผ่าน ย่อมให้สิทธิ ส.ว. เสนอชื่อนายกฯ ได้.."

 

แต่ก็ใช่ว่า ทุกคนจะเห็นด้วยกับการตีความแบบนี้ทั้งหมด อย่างเช่น

"วัลลภ ตังคณานุรักษ์" สมาชิก สนช. ที่ให้ความเห็นว่า "เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อขึ้นมาอีก เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาและร่วมกันโหวต ขณะที่ ส.ว.ก็ยังเสนอชื่อไม่ได้ เพราะคำถามพ่วงกำหนดไว้ให้ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น"

นอกจากนี้ กรธ. อย่าง "สุพจน์ ไข่มุกด์" ก็นำข้อมูลออกมายืนยันว่า "แม้แต่ในเวทีชี้แจงประชาชนและเทปบันทึกการชี้แจงของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ไม่เคยมีคำพูดที่ว่าให้อำนาจ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ"

และ กรธ. อย่าง "เธียรชัย ณ นคร " ก็ให้ความเห็นว่า "ให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯนั้น อาจทำให้เกินกว่าตัวเนื้อหาของคำถามพ่วงได้"

 

ซึ่งนี่คือปัญหาที่ยังเป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน และยังเป็นที่สับสนต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติจะออกมาอย่างไร ...