หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?

วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงมติการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อให้มีการทำประชามติ อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญของการลงประชามติครั้งนี้คือ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผลลัพธ์ที่จะเป็นที่ยอมรับคืออะไร?

+ให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาประยุกต์ใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เช่นมีเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวนมาก การให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จังหวัดละ 1 คน ฯลฯ

ด้วยเหตุผลนี้หากมีการทำประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ควรนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ แล้วให้รัฐสภาจากการเลือกตั้งแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้ต้องไม่เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

+ให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาประยุกต์ใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่แม้จะมีข้อกังขาในเรื่องของที่มา เนื่องจากมีต้นทางจากการทำรัฐประหารปี 2549 แต่อย่างน้อยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ผ่านการทำประชามติจากประชาชน อย่างไรก็ตามแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ในบางประเด็นก็มีข้อดีมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2540  

ด้วยเหตุผลนี้หากมีการทำประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ควรนำรัฐธรรมนูญ 2550 กลับมาใช้ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ แล้วให้รัฐสภาจากการเลือกตั้งแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งนี้ไม่ต้องเสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณในกระบวนการร่างธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

+ให้ประชาชนเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ถ้าหากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ให้เริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้ประชาชนเลือกตั้ง 'สภาร่างรัฐธรรมนูญ' (สสร.) เมื่อ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้มีการทำประชามติอีกครั้ง และหากผลการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยวิธีนี้จะเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างประนีประนอม ระหว่างผู้มีอำนาจปัจจุบันกับประชาชนกลุ่มต่างๆ เนื่องจากระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะมีตัวแทนจากประชาชนเป็นผู้ร่าง และรัฐบาลรักษาการน่าจะเป็น คสช. 

+ให้ คสช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่

หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ ให้ คสช.ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ซึ่งอาจจะใช้กลไกเดิมของรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ คสช. ครม. สนช. สปช. ในการคัดเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ   

+ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นคนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ ให้ คสช. ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้ สนช.เป็นคนจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากให้ สนช. ดำเนินการอาจจะช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณในการร่างรัฐธรรมนูญลง

+ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือหลายองค์กร เช่น ครม. กับ คสช. หยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง

หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ ให้ คสช. และ ครม. ในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หยิบรัฐธรรมนูญในอดีตฉบับใดก็ได้มาปรับปรุงใหม่ โดยวิธีนี้จะคล้ายกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550

ทั้งนี้ หาก คสช. หรือ ครม. หยิบรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 มาปรับปรุงก็อาจจะทำให้การรัฐประหารเสียของ และการปฏิรูปที่ผ่านมาเสียเปล่า

รวมโหวตลงคะแนน ที่เว็บไซต์ประชามติ
https://www.prachamati.org/vote/road-to-constitution

คำถาม: หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?