เมื่อวันที่ 7-15 มีนาคม 2559 เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) เปิดให้โหวตคำถามว่า “คุณจะไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.หรือไม่?” ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Prachamati – ประชามติ ผลปรากฏว่ามีผู้ร่วมโหวตจำนวน 4,484 คน เสียงส่วนใหญ่จำนวน 3,828 คน หรือ 85% จะ "ไป" ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ขณะที่ประชาชนจำนวนอีก 656 คน หรือ 15% จะ "ไม่ไป" ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่จะถึงนี้
โดยเหตุของผู้ที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติครั้งนี้ แม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาร่างและกระบวนร่างรัฐธรรมนูญ แต่หลายคนเห็นตรงกันว่าการไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติเป็นการใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แม้บ้างส่วนจะกังวลว่าผู้มีอำนาจอาจสามารถควบคุมผลได้ แต่ก็เห็นว่าการออกไปใช้สิทธิคือการแสดงพลังที่มีอยู่ดีกว่าให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจอนาคตประเทศฝ่ายเดียว
สำหรับเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น "ในเมื่อประชามติ คือ โอกาสที่ประชาชนจะได้เลือกว่าจะรับร่างหรือไม่? เราย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสในการตัดสินอนาคตประเทศไปตกอยู่ในมือผู้อื่นอีกต่อไป ไปแน่นอน"
"เราเรียกร้องประชาธิปไตย การลงประชามติก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายมาตรา แต่กาช่องไม่รับเพราะมันจะมีผลต่อประชามติ ... อีกทั้งฝั่งเผด็จการจะได้รู้จักพลังของประชาชนที่แท้จริง"
"ไปค่ะ ให้มันรู้ว่าดิฉันเป็นประชาธิปไตย และยอมรับเสียงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดิฉันว่าคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรแสดงพลังทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง อย่าทำเป็นนิ่งเฉยเหมือนที่ผ่านมาเลยค่ะ ดิฉันต้องการให้ คสช. รู้ว่าดิฉันไม่รับร่างอย่างถูกต้องตามกฏเกณฑ์ที่ตั้งไว้"
ขณะที่เหตุผลของผู้ที่จะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ โดยรวมเห็นว่าการไปใช้สิทธิครั้งนี้จะเป็นการเข้าไปสร้างความชอบธรรมให้กับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำประชามติ ยังดำเนินภายใต้บรรยากาศที่ขาดเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้ผลประชามติไม่น่าจะสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้
สำหรับเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น "สิ่งที่จะเรียกว่าประชามติ ไม่น่าจะใช่ประชามติจริงครับ แค่การโหวตว่าจะรับหรือไม่รับก็ไม่ถูกแล้วครับ เพราะถ้าไม่รับก็ต้องเจอกับอะไรไม่รู้ มันไม่ใช่การเลือกระหว่างสองสิ่งที่แฟร์ๆ "
"มีประชามติ แต่ไม่เปิดให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรี แล้วคนร่างและคนให้ร่างก็ยังตั้งเป้าว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญได้รับการตอบรับจากประชามติ ก็ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาล..."
"มันไม่ใช่ประชา(ชน)มติค่ะ ถ้าเป็นประชามติ ที่ให้ประชาชนได้ออกไปลงคะแนน ต้องไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเผด็จการ ม.44 หรือ รัฐบาลทหาร"
สำหรับวิธีการโหวต วัดจากจำนวนคนกดไลค์รูป เช่น ถ้าจะ 'ไป' ออกเสียงประชามติ ให้กดไลค์รูปคนสีเขียว ถ้า "ไม่ไป" ให้กดไลค์รูปคนสีแดง ส่วนการกดอย่างอื่นที่ไม่ใช่การกดไลค์จะไม่ถูกนับ