ถาม-ตอบ 20 ข้อสงสัย ก่อนประชามติ 7 สิงหาคม

หลังจากที่มีการถามปัญหาเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559  เข้ากันเข้ามาเยอะมาก วันนี้เว็บไซต์ประชามติจึงรวบรวมปัญหาที่สอบถามกันเข้ามาบ่อยๆ ไว้ที่นี้ให้ได้ทราบและเตรียมตัวก่อน

1. วันที่ 7 สิงหาคม ประชามติเกี่ยวกับอะไร

- การออกเสียงประชามติวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม เป็นเรื่องเกี่ยวร่างรัฐธรรมนูญ การลงประชามติมีสองคำถาม คือ คำถามแรก “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” (อ่าน สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ) และ คำถามที่สอง “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ให้ ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีเฉพาะ 5 ปีแรก”  (ทำความรู้จักคำถามพ่วงเพิ่มเติม)

2. อยากอ่านร่างรัฐธรรมนูญแต่ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถหาอ่านได้ที่ใดบ้าง

- ผู้อ่านสามารถอ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ฉบับเต็มได้ที่ http://www.ect.go.th/th/wp-content/uploads/2016/04/cons2016.pdf และสรุปร่างรัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นได้ที่ https://www.prachamati.org/news/3583

3. ใครคือผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้บ้าง

- ผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์นับถึงวันออกเสียง (เกิดก่อน 9 สิงหาคม 2541)

4. ต้องเตรียมอะไรไปออกเสียงประชามติบ้าง

- เตรียมหลักฐาน บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร เพื่อแสดงตน

5. การออกเสียงประชามติเริ่มเวลาใด

- การออกเสียงประชามติเริ่มเวลา 8.00 – 16.00 น.ของวันที่ 7 สิงหาคม 2559 

6. การออกเสียงครั้งนี้มีตัวเลือกอย่างไร

- การออกเสียงประชามติมี 2 ตัวเลือกเท่านั้นคือ "เห็นชอบ" กับ "ไม่เห็นชอบ" โดยต้องกากบาทในช่องที่เลือกเท่านั้น ห้ามขีด เขียนเครื่องหมายอื่นๆ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นบัตรเสียทันที

7. บัตรดี บัตรเสีย และบัตรดีบางส่วนเป็นอย่างไร

- "บัตรดี" คือ กากบาทเลือกข้อใดข้อหนึ่งของทั้ง 2 คำถาม

"บัตรเสีย" คือไม่กากบาทในช่องใดช่องหนึ่งเลยหรือเขียนอะไรที่ไม่ใช่กากบาทลงในบัตรเลือกตั้ง

"บัตรดีบางส่วน" คือ กากบาทเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอันใดอันหนึ่งในคำถามที่ 1 หรือคำถามที่ 2 โดยการนับคะแนนจะแยกเป็นรายคำถาม ถ้าหากคิดว่า ไม่เข้าใจ, ไม่ชอบหรือไม่อยากตอบคำถามใดสามารถเว้นว่างไว้ได้

8. สามารถออกเสียงล่วงหน้าหรือออกเสียงในต่างประเทศได้หรือไม่

- ประชามติครั้งนี้ไม่มีการออกเสียงล่วงหน้า ไม่มีการออกเสียงในต่างประเทศ 

9. ถ้าลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตจังหวัดไม่ทันจะส่งผลอย่างไรและ กกต.จะขยายเวลาการลงทะเบียนฯเพิ่มเติมอีกหรือไม่

-  การใช้สิทธิลงทะเบียนฯ สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมาและไม่ขยายให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมแล้วเพราะตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดให้การลงทะเบียนฯเสร็จสิ้นก่อนวันลงประชามติ 30 วัน 

10. สำหรับคนที่ลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตออนไลน์ไว้ หากไม่ตอบกลับหนังสือตอบรับภายใน 7 วันไม่ทันจะส่งผลอย่างไร

- การลงทะเบียนมีผลสมบูรณ์แล้วไม่จำเป็นต้องตอบกลับ หนังสือตอบกลับเป็นการตรวจสอบอีกครั้งว่าไม่ได้มีผู้อ้างสิทธิมาลงทะเบียนฯ

11. ในกรณีที่พบว่า รายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติตกหล่นหรือเกินไปกว่าที่อยู่ในทะเบียนบ้าน

- เจ้าบ้านต้องไปแจ้งเพิ่มหรือถอนชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงฯได้ที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นพร้อมหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ ภายในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ 

12. ในกรณีที่ไม่สามารถไปออกเสียงประชามติได้ต้องแจ้งต่อเจ้าหนักงานหรือไม่

- ไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดโดยถือว่า การไม่มาออกเสียงคือการสละสิทธิในการกำหนดอนาคตประเทศ ฉะนั้นจำต้องยอมรับผลประชามติที่ออกมา

13. หากไม่ไปออกเสียงประชามติครั้งนี้จะเสียสิทธิไหม

- ไม่มีเสียสิทธิเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ 

14. ในกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้จะมีความช่วยเหลือพิเศษหรือไม่

- การออกเสียงประชามติของกลุ่มชาติพันธุ์กระจุกตัวอยู่ตามแนวชายแดนโดยการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้มีการระบุในกฎหมายไว้ชัดเจนให้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยออกเสียงแต่การช่วยเหลือต้องยึดแนวทางกฎหมายอย่างกรณีชาวเขาอ่านหนังสือไม่ออกให้คณะกรรมการฯประจำหน่วยออกเสียงเท่านั้นที่มีสิทธิช่วยเหลืออ่านให้ฟังว่าในบัตรเลือกตั้งเขียนว่าอย่างไร การอ่านจะต้องอ่านตามที่บัตรเลือกตั้งเขียนไว้ ห้ามตีความหรือสรุปความ แต่สามารถระบุได้ว่า คำว่าเห็นชอบและไม่เห็นชอบอยู่ฝั่งใดของบัตรเลือกตั้ง

15. ในกรณีของผู้พิการจะมีการให้ความช่วยเหลืออย่างไร

- กรณีคนพิการคณะกรรมการฯประจำหน่วยออกเสียงจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแต่ไม่อนุญาตให้กาบัตรเลือกตั้งแทน ผู้พิการจะต้องกาเองเท่านั้น ส่วนผู้พิการทางสายตามีให้บริการบัตรทาบทุกหน่วยออกเสียง หากผู้พิการร้องขอให้คณะกรรมการฯ อ่านให้ฟัง การอ่านจะต้องอ่านตามที่บัตรเลือกตั้งเขียนไว้ ห้ามตีความหรือสรุปความ แต่สามารถระบุได้ว่า คำว่าเห็นชอบและไม่เห็นชอบอยู่ฝั่งใดของบัตรเลือกตั้ง

16. การจัดกิจกรรมงานรื่นเริงสามารถทำได้หรือไม่

- การจัดกิจกรรมงานรื่นเริงสามารถจัดได้แต่ห้ามเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม – เวลา 24.00 น. ของวันที่ 7 สิงหาคม 2559

17. การซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำได้หรือไม่

-     ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม – เวลา 24.00 ของวันที่ 7 สิงหาคม 2559 

18. ประชาชนมีสิทธิไปสังเกตการณ์การนับคะแนนที่เขตไหม

- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิในการสังเกตการณ์และร้องเรียนในกรณีที่มีความผิดปกติหรือความผิดพลาดของการนับคะแนน การนับคะแนนจะเริ่มเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป

19. ผู้สิทธิออกเสียงตรวจสอบหน่วยออกเสียงของตนเองได้ผ่าน www.khonthai.com ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

- คลิกที่ลิงค์ http://www.khonthai.com/Election/Elecenter/intercervotsv/

20. เว็บไซต์และเพจประชามติคืออะไร

 -  เว็บไซต์และเพจประชามติคือการร่วมตัวกันของภาคประชาสังคมที่รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้อ่านสามารถติดตามเพจประชามติของเราผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและทางเว็บไซต์ประชามติ https://www.prachamati.org/

 

ขอบคุณที่มาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)