สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กลไกการปราบ(โกง) “นักการเมือง”

หนึ่ง: คัดกรองคุณสมบัติก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง 
 
ส.ส. ต้องไม่เคยมีความผิดฐานทุจริต ผิดจริยธรรม และไม่เป็นเจ้าของสื่อ [มาตรา 98]
 
ก่อนที่ ส.ส. จะเข้าสู่สภาต้องมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่า ต้องมีคุณสมบัติแบบใด หรือไม่มีลักษณะต้องห้ามอะไรบ้าง ทั้งนี้ สาระสำคัญในเรื่องดังกล่าวตามร่างรัฐธรรมนูญมีชัยก็ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มากนัก เพียงแต่เพิ่มบางอย่างเข้ามา เช่น ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาฐานทุจริต หรือเคยพ้นตำแหน่งเพราะฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม อีกทั้ง ต้องไม่เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน เป็นต้น
 
ครม. ต้องมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์และไม่เป็นเจ้าของสื่อ [มาตรา 160]
 
สำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (รมต.) ก็ต้องมีคุณสมบัติหรือห้ามมีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกัน ซึ่งสาระสำคัญก็จะใกล้เคียงกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของส.ส. เพียงแต่ว่า สิ่งใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาก็คือ "ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" 
 
สอง: กำจัดนักการเมืองที่เชื่อได้ว่าทุจริตการเลือกตั้งออกจากสนามแข่ง
 
ในการเลือกตั้งกรรมการคนสำคัญก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยการกำจัดนักการเมืองทุจริตจะแบ่งออกเป็นสองช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้งและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง โดยมีสาระสำคัญต่างกัน ดังนี้
 
ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. มีอำนาจ "แจกใบแดงชั่วคราว" [มาตรา 224 (4) และ 225]
 
ในกรณีที่ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งหรือการเลือกนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งหรือการเลือกใหม่ และถ้า กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งมีส่วนรู้เห็นในการทุจริตการเลือกตั้ง ก็ให้ กกต.มีอำนาจสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้ อำนาจการระงับสิทธิชั่วคราวให้เป็นที่สุด
 
หลังประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้านักการเมืองโกงให้เป็นหน้าที่ของศาลฏีกา [มาตรา 222]
 
ในกรณีที่ กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งหรือการเลือกใหม่ หรือสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว หรือภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลผู้นั้น โดยศาลฎีกาสามารถเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี 
 
สาม: การยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองโดยสภา
 
ถอดถอนนักการเมืองที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม [มาตรา 82]
 
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนั้น ถ้ามีนักการเมืองคนใดผิดไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา ร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
 
โดยความผิดในฐานนี้ ก็เช่น ความผิดฐานกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือแม้แต่การฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง (เฉพาะ ส.ว.) เป็นต้น
  
ถอดถอนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณ [มาตรา 144]
 
ในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ก็มีการเขียนเรื่องดังกล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า ห้าม ส.ส. ส.ว. หรือ กมธ. เสนอแปรญัตติหรือการกระทำการใด ๆ ที่มีผลให้ตัวเองมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพียงแต่ว่าร่างรัฐธรรมนูญในอดีตกำหนดไว้แค่ว่าถ้ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเพื่อยกเลิกการกระทำนั้นๆ 
 
แต่เมื่อมาพิจารณาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ปรากฎว่า มีการเพิ่มโทษสำหรับการกระทำดังกล่าวไว้ ทั้งนี้ ถ้าหาก ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นักการเมืองคนดังกล่าวพ้นจากสมาชิกภาพและให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
 
มิใช่แค่นั้น หากพบว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีมีส่วนรู้เห็นหรือรับรู้แต่มิได้ทำการยับยั้ง ทั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีพ้นไปทั้งคณะก็ได้อีกด้วย
 
การลงมติไม่ไว้วางใจจากสภาผู้แทนฯ [มาตรา 151]
 
การลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร เป็นการใช้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารตามปกติของระบบสภา โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยไม่ได้ปรับแก้สาระสำคัญจากเดิม ซึ่งกำหนดว่า ให้ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะก็ได้ แต่ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ หากได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งให้นักการเมืองดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งไป
 
สี่: การยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองโดยองค์กรอิสระ
 
กกต. มีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนนักการเมืองได้ [มาตรา 82]
 
อำนาจดังกล่าวจะคล้ายกับของ ส.ส. และ ส.ว. แต่ทว่า กกต. ก็มีอำนาจดังกล่าวด้วย เช่น ในกรณีที่กกต. เห็นว่ามีนักการเมืองคนใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก็สามารถที่จะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้บุคคลดังกล่าวต้องพ้นไปจากตำแหน่งทางการเมืองได้ ทั้งนี้ ฐานความผิดก็ยังคงมีเท่าเดิม ได้แก่ ความผิดฐานกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือแม้แต่การฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง (เฉพาะ ส.ว.) เป็นต้น
 
ป.ป.ช. ยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม [มาตรา 235(1)]
 
ก่อนอื่นต้องเท่้าความก่อนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยกำหนดให้ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับองค์กรอิสระและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามด้วยการถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งและถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง
 
โดยช่องทางดังกล่าว เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่จะเป็นผู้ทำการสอบสวน ถ้าหากเสียงข้างมากของคณะกรรมการเห็นว่ามีมูลจึงค่อยส่งไปให้ศาลฏีกาเป็นผู้วินิจฉัยในประเด็นนี้
 
ป.ป.ช. ยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ความผิดฐานมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติฯ [มาตรา 235(2)]

 
นอกจากเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ป.ป.ช. ยังมีอำนาจสอบสวนความผิดอื่นอีก เช่น นักการเมืองที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติฯ โดยอำนาจดังกล่าวนี้ เป็นอำนาจที่มีมาแต่ดั่งเดิม กล่าวคือ หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้หน้าที่และอำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวนและให้ความเห็น
 
ซึ่งถ้า ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ก็ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถ้ามีความผิดจริงจะถูกตัดสิทธิรับสมัครตลอดชีวิต รวมถึงอาจจะตัดสิทธิเลือกตั้งสูงสุดไม่เกิน 10 ปี
 
ห้า: องค์กรอิสระมีหน้าที่รัดเข็มขัดไม่ให้เกิดประชานิยม
 
กำหนดหน้าที่ของรัฐในการรักษาวินัยการเงินการคลัง [มาตรา 62]
 

ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งคำว่า "วินัยการเงินการคลังของรัฐ" ได้แทรกอยู่ตามมาตราต่างๆ ที่มีผลผูกมัดให้การทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
 
กำหนดให้องค์กรอิสระเป็นผู้กำกับเรื่องวินัยการเงินการคลัง [มาตรา 245]
 
เพื่อสร้างหลักประกันว่ารัฐจะอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 240 จึงกำหนดให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดินจะเป็นผู้คอยให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำหรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน และสามารถลงโทษทางปกครองได้
 
นอกจากนี้ ยังให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรงต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา และถ้าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ปรึกษาหารือร่วมกับ กกต.และ ป.ป.ช.หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้นให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ ครม.เพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชน  เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ
 
ข้อสังเกตแนบท้าย 
 
หนึ่ง: เพิ่มอำนาจใหม่ให้กับองค์กรอิสระและศาลในการควบคุมรัฐบาล อันได้แก่
 
อำนาจการแจก “ใบแดงชั่วคราว” ของ กกต.
 
อำนาจดังกล่าวค่อนข้างน่าสนใจมาก เมื่อ กกต. มีอำนาจเป็นที่สุดในการสั่งให้เลือกตั้งใหม่และสามารถสั่งไม่ให้นักการเมืองที่ กกต. เห็นว่าทุจริตการเลือกตั้งไม่สามารถลงรับเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ ทั้งนี้ อำนาจดังกล่าวมีข้อครหาว่า ให้อำนาจมากเกินไปกับกกต. เพราะการระงับสิทธิการเลือกตั้งควรเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลเป็นคนตัดสิน 
 
ให้ศาลฏีกาทำหน้าที่พิพากษาจริยธรรม 
 
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นคนกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมา แต่ทว่า ป.ป.ช. เป็นคนตรวจสอบและให้ศาลฏีกาเข้ามาวินิจฉัยประเด็นนี้แทน ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญมีชัยในร่างที่แล้ว (ฉบับเดือนมกราคม) ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ดี มีปัญหาที่ต้องคิดตามต่อว่า สุดท้ายแล้วเครื่องมือดังกล่าวจะเป็นเพียงการลงโทษคนในทางการเมืองแต่ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายใดเลยใช่หรือไม่
 
การถอดถอด ครม. ถ้าปล่อยให้นักการเมืองคนอื่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เงินงบประมาณ
 
นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มโทษอย่างหนักในกรณีที่ ส.ส. ส.ว. หรือ กมธ. คนใดแปรญัตติหรือกระทำการใดๆ ให้ตัวเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เงินงบประมาณ ทั้งนี้ ถ้าหาก ครม. เห็นหรือรับรู้แต่มิได้ยับยั้งการกระทำดังกล่าว ก็จะมีเหตุให้สภายื่นถอดถอนต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และต้องพ้นไปทั้งคณะ เว้นแต่จะพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นจริงๆ
 
ซึ่งมาตรการดังกล่าวนับว่าเป็น "ยาแรง" ตัวใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ก็ไม่ค่อยมีนักการเมืองคนใดใช้ช่องทางดังกล่าวในการยื่นถอดถอนมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่า กลไกดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อย่างไร
 
ให้องค์กรอิสระควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลหากไม่เป็นไปตามวินัยทางการเงินการคลัง 
 

ในรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนั้น ผู้ตรวจเงินแผ่นดินจะเป็นผู้คอยให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำหรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน และสามารถลงโทษทางปกครองได้ และถ้าพบเห็นว่ามีการใช้เงินในทางทุจริตก็สามารถส่งเรื่องไปให้ กกต. หรือ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อได้ เช่น ทำหนังสือชี้แจ้งการใช้งบประมาณแผ่นดินว่าอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐต่อสภาและประชาชน เพื่อเป็นการระงับยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งหมายความว่า การกำหนดหรืออกนโยบายได้ๆ จะมีองค์กรอิสระเปรียบเสมือนผู้ควบคุมอยู่ด้านหลังอีกที
 
สอง: ตัดบทบัญญัติให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอน 

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่สุดสำหรับรัฐธรรมนูญที่ถูกขนานนามว่า "ปราบโกง" แต่กลับเอาอำนาจที่เคยมีอยู่อย่างการเข้าชื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 40 และ 50 ออกไป ทั้งนี้ แต่ก่อนรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งได้