ทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยเผยโฉมออกมา มันได้ส่งแรงกระเพื่อมไปยังกลุ่มคนหลายกลุ่มในสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากมีความกังวลกันว่าสิทธิที่เคยได้รับการคุ้มครองในอดีตจะหายไปหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม การจัดสวัสดิการโดยเสมอภาค และการรวมตัวกันเป็นสหภาพ
นับถอยหลัง "ค่าแรงขั้นต่ำ" อาจจะไม่มีอีกต่อไป
แนวคิดดั้งเดิมที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนไว้ว่า รัฐต้องจัดระบบประกันสังคม และคุ้มครองลูกจ้าง ได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการอย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งปรากฏในตอนท้ายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 (7) แต่พอมาถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง กลับปรากฎว่า ได้ตัดคำว่า “อย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ออก และเปลี่ยนไปใช้คำว่า “อย่างเหมาะสมในการดำรงชีพ” แทน ซึ่งปรากฎอยู่ในมาตรา 74 ว่า “ให้แรงงานได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเหมาะสมในการดำรงชีพ”
โดยในประเด็นนี้ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยังตั้งข้อสังเกตสนับสนุนประเด็นดังกล่าวไว้อีกว่า การไม่ระบุเรื่อง “ค่าจ้างที่เป็นธรรม” ไว้ และใช้คำว่า “ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” อาจะจก่อให้เกิดสุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่า ดังนั้น “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่ก็ควรไม่เท่ากันด้วย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะยิ่งสร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้น
สิทธิจางๆ ของแรงงานที่จะรวมตัวกันเป็นสหภาพ สหพันธ์
รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน สามารถรวมตัวกันได้ ตามที่ปรากฏใน มาตรา 64วรรคแรกของรัฐธรรมนูญ2550 ว่า “บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น” แต่ร่างรัฐธรรมนูญปี2559ได้ตัดกลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชนออกไปและใช้คำว่า หมู่คณะอื่น แทน
ในประเด็นนี้ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ให้ข้อสังเกตไว้อีกว่าว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและไม่มีหลักประกันใดๆให้กับองค์กรหรือบุคคลเหล่านี้ จึงเป็นการเปิดช่องให้รัฐหรือนายจ้างสามารถละเมิดสิทธิของประชาชนได้ง่ายขึ้นเพราะคำว่าหมู่คณะอื่นไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่ามีความเหมือนหรือต่างจากคำว่ากลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชนหรือไม่
มิใช่แค่นั้น ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพหรือสหพันธ์ได้ดังที่ปรากฏในมาตรา64 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญว่า สิทธินี้รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐแต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ เช่นสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยเป็นต้น ซึ่งการรวมตัวเป็นสหพันธ์หรือสหภาพ จะช่วยข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ถูกเอาเปรียบและสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์และป้องกันความไม่เป็นธรรมที่รัฐอาจจะกระทำต่อตัวข้าราชการได้ เช่นสหภาพข้าราชการกระทรวงเรือดำน้ำถูกรัฐย้ายตำแหน่งจากปลัดกระทรวงเรือดำน้ำไปเป็นพนักงานบัญชี สหภาพข้าราชการก็สามารถเรียกร้องให้รัฐให้ความเป็นธรรมแก่ปลัดกระทรวงได้
เมื่อย้อนมาดูร่างรัฐธรรมนูญปี2559 มาตรา 42ที่เป็นเรื่องสิทธิในการรวมตัวกลับไม่ได้พูดถึงสิทธิในการรวมตัวของข้าราชการไว้ อาจตีความว่า ข้าราชการไม่มีสิทธิในการรวมตัว ทำให้ข้าราชถูกละเมิดสิทธิได้และจะทำให้สหพันธ์หรือสหภาพที่มีมาก่อนแล้วถูกยุบลงเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองเป็นต้น อย่างไรก็ตามถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การที่ตัดคำเหล่านี้ไปอาจจะเป็นเพราะคำว่าหมู่คณะอื่นก็สามารถตีความได้ครอบคลุมถึง กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน แล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องเขียนให้ซับซ้อนอีก
สิทธิรวมตัวของแรงงานกับความฝันที่ร่างรัฐธรรมนูญไปไม่ถึง
นอกจากข้อความอันคลุมเครือที่ปรากฎในเรื่องของการรวมตัวของแรงงาน ยังมีอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่กลุ่มแรงงานเรียกร้องแต่รัฐธรรมนูญไม่เคยไปถึงก็คือ สิทธิในการรวมตัวที่เป็นไปตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อนุสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิคนงานในการตั้งสหภาพแรงงาน และคุ้มครองคนงานไม่เลือกหน้า
โดยใจความสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ก็คือ ให้คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ และกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และต้องให้องค์กร(สหภาพ) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี
นอกจากนี้ ในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ยังคุ้มครองเรื่องการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรองของแรงงานไว้อีกว่า ต้องคุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และองค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง รวมไปถึงส่งเสริมให้มีการใช้ ประโยชน์จากกลไก การเจรจา โดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน
เมื่อการบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่กินความถึงหลักการเหล่านี้ ปัญหาของแรงงาน อย่างเช่น ความยากลำบากในการจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ยังคงอยู่ หรือแม้แต่การเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานก็จะดำเนินต่อไป อีกทั้ง เมื่อไม่มีการระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญการเรียกร้องของกลุ่มแรงงานให้แก้ไขกฎหมายลูกอย่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก็จะเป็นไปไม่ได้
คุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพ และส่งเสริมการออมเพื่อชีวิตวัยเกษียณ
สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งใหม่และเป็นข้อเด่นของร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 นี้คือ การคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน และบังคับให้รัฐสนับสนุนเรื่องการออมของแรงงานเพื่อการดำรงชีพหลังวัยทำงานซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะสิทธิแรงงานได้ขยายครอบคลุมถึงการดำรงชีพหลังวัยทำงานทำให้ชีวิตหลังวัยทำงานยังมีเงินออมไว้ดำรงชีพซึ่งเป็นผลดีกับแรงงาน นับเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญของไทยได้ให้ความคุ้มครองไปจนถึงชีวิตหลังวัยทำงาน แต่ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้จะไม่มีระบุไว้แต่รัฐบาลก็ให้การดูแลชีวิตหลังวัยทำงานของแรงงานอยู่แล้วเช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น