ตามปกติศาลทหารจะพิจารณาเฉพาะคดีที่จำเลยเป็นทหารเท่านั้น แต่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557 "พลเรือนขึ้นศาลทหาร" กลายเป็นกระแสที่ผู้คนสนใจ เมื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่อง กำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีความต่อไปนี้ ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 - 112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 - 118 และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.
การประกาศให้ศาลทหารเข้ามาดูแลคดีความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และความมั่นคง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ คสช. ที่จะปราบปรามการกระทำความผิดในประเด็นเหล่านี้ให้หนักหน่วงและจริงจังในระดับที่กระบวนการยุติธรรมปกติตอบสนองความต้องการของ คสช. ไม่ได้
กระบวนการพิจารณาคดีศาลทหารคล้ายกับศาลพลเรือน เพราะตามพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 กำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้กับการพิจารณาคดีในศาลทหารด้วย แต่โครงสร้างการบริหารงานของศาลทหารจะแตกต่าง เพราะอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม ตุลาการและเจ้าหน้าที่ศาลจะเป็นข้าราชการทหาร ศาลทหารมีที่ทำการต่างหากจากศาลพลเรือน เช่น ศาลทหารกรุงเทพตั้งอยู่ข้างกระทรวงกลาโหม อยู่ด้านหลังของศาลหลักเมือง อาคารของศาลทหารขึ้นป้ายว่า “กรมพระธรรมนูญ”
ห้องพิจารณาคดีศาลทหารส่วนใหญ่ขนาดเล็กกว่าศาลพลเรือน จึงไม่ได้จัดแบ่งโซน แยกระหว่าง 1) บัลลังก์ศาล 2) บริเวณที่นั่งโจทก์ จำเลย และพยาน 3) บริเวณที่นั่งของผู้สังเกตการณ์ ศาลพลเรือนส่วนใหญ่จะมีรั้วกั้นระหว่างผู้สังเกตการณ์กับคู่ความขณะที่ศาลทหารไม่มี จึงให้ความรู้สึกใกล้ชิดกว่า กระบวนการยื่นขอประกันตัวที่ศาลทหารจะทำได้รวดเร็วกว่า เพราะมีปริมาณคดีไม่มาก โดยเฉลี่ยใช้เวลารอประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงก็รู้ผลคำสั่ง ขณะที่ศาลพลเรือนโดยทั่วไป เช่น ศาลอาญา โดยเฉลี่ยจะมีผู้มายื่นขอประกันตัววันละ 30 - 40 คดี ประชาชนยื่นขอประกันตัวที่ศาลอาญาแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลารอฟังคำสั่งประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง
จุดแตกต่างอีกประการที่สำคัญคือ ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา ตัดสินอย่างไรให้ถือเป็นที่สุดทันที
ข้อกังวลของการให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน คือ ความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งล้วนมีที่มาจากทำเนียบนายทหารทั้งสิ้น และบางส่วนไม่ต้องมีความรู้กฎหมาย ยิ่งภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติเช่นนี้ จำเลยหรือผู้ต้องหาทางการเมืองซึ่งถูกผลักให้ขึ้นศาลทหารจึงย่อมรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมของตนเอง แม้ภายหลังประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา แต่ต้องเป็นคดีที่เกิดนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป คดีซึ่งเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 31 มี.ค.58 ยังคงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ตามมาตรา 61 พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498
ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เห็นด้วยหรือไม่?
Bookmark/Search this post
ประเด็นสนับสนุน
ที่ศาลทหารคดีไม่ล้นศาลเท่ากับที่ศาลพลเรือน ทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาให้บริการอย่างเต็มที่ กระบวนการเดินเอกสารจากโต๊ะรับคำร้อง ไปสู่โต๊ะตุลาการทำได้รวดเร็วกว่า โดยเฉลี่ยใช้เวลารอประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงก็รู้ผลคำสั่ง เช่น การขอประกันตัวก็จะรู้ผลเร็วกว่าที่ศาลพลเรือนมาก และคดีที่ศาลทหารก็ไม่ต้องนัดยาวข้ามปีเหมือนที่ศาลพลเรือนเพราะตารางคดียังไม่แน่นเท่าไหร่ ไม่มีคดีเล็กน้อยมารกโรงรกศาลให้เป็นภาระ ทำให้คดีใหญ่ๆ และสำคัญสามารถพิจารณารู้ผลเร็ว ไม่อาจเตะถ่วงเพื่อหวังรอให้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนได้
ตามพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 กำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้พิจารณาคดีในศาลทหารด้วย จำเลยในศาลทหารมีสิทธิแต่งตั้งทนายความเข้าต่อสู้คดี และได้รับสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับการพิจารณาในศาลพลเรือน แม้ภายใต้กฎอัยการศึกจำเลยจะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา แต่ปัจจุบันสิทธิอุทธรณ์ฎีกาก็กลับมาแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมแต่อย่างใด
ประเด็นคัดค้าน
ตุลาการศาลทหารล้วนเป็นนายทหาร รับราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายทหารใหญ่ที่นั่งเก้าอี้นักการเมืองอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติเช่นนี้ จำเลยหรือผู้ต้องหาทางการเมืองซึ่งถูกผลักให้ขึ้นศาลทหารจึงย่อมรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมของตนเอง
ในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีโทษจำคุกระหว่าง 3 - 15 ปี ซึ่งช่วง 2 - 3 ปีมานี้คดีส่วนใหญ่ศาลพลเรือนมักจะลงโทษโดยเฉลี่ยอยู่ที่กรรมละ 5 ปี แต่ศาลทหารเคยกำหนดอัตราโทษในคดีของคฑาวุธ และคดีของเธียรสุธรรม อัตรากรรมละ 10 ปี และในคดีของ "สมศักดิ์" เคยกำหนดอัตราโทษ กรรมละ 9 ปี
เนื่องจากผู้บังคับบัญชา หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการทหารสำหรับศาลทหารชั้นต้น ซึ่งขัดกับหลักความเป็นกลาง และความเป็นอิสระของผู้พิพากษา การกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนจึงเป็นการทำลายหลักการนี้ และเท่ากับเป็นการทำลายหลักการปกครองในระบอบนิติรัฐด้วย
แสดงความเห็น