ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดมีประเด็นสำคัญคือ บทเฉพาะกาลเรื่องการกำหนดที่มาให้ ส.ว.สรรหา ชุดแรก จำนวน 123 คน มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน โดย “ฝ่ายสนับสนุน” เห็นว่าการให้อำนาจ ครม.ชุดปัจจุบันเป็นผู้สรรหา จะช่วยสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ขณะที่ “ฝ่ายคัดค้าน” เห็นว่าน่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจโดยไม่มีข้อห้ามให้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง
ทั้งนี้ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภามีสมาชิกไม่เกิน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 77 คน และมาจากการสรรหา 123 คน โดยการสรรหามาจากสี่กลุ่ม ประกอบด้วย
1) อดีตข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง และข้าราชการฝ่ายทหารซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งมาจากการสรรหาจำนวนประเภทละไม่เกิน 5 คน
2) ผู้แทนสภาผู้แทนวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพ ที่เป็นนิติบุคคลและมีกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งมาจาการสรรหา จำนวนไม่เกิน 15 คน
3) ผู้แทนองค์กรที่เป็นนิติบุคคลหรือมีกฎหมายจัดตั้ง ด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ และการศึกษา ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่นและท้องที่ ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวนด้านละไม่เกิน 6 คน
4) ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง ความมั่นคง พลังงาน ศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ ซึ่งมาจากการสรรหารวมกันแล้วมีจำนวนไม่เกิน 68 คน
ในช่วงเริ่มต้นของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 227 กำหนดให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) เลือกกรรมการคัดเลือก ส.ว.สรรหา ชุดแรกจำนวน 123 คนก่อน ซึ่ง ส.ว.ชุดนี้จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี จึงจะเข้าสู่วิธีการสรรหาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้งนี้ หากครบวาระ ส.ว.ชุดแรก ยังมีสิทธิสมัครในรอบต่อไป
รูปประกอบจาก: โพสต์ทูเดย์
แสดงความเห็น