ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดในการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีเนื้อหาถูกต้องหรือไม่ ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากจะเป็นการป้องการเผด็จการรัฐสภาที่มักจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ส่วนฝ่ายคัดค้านเห็นว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากจะเป็นการขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ
ในบทสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนฯ, สมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งสองสภา หรือจากพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน โดยต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาสามวาระ
ในวาระสามขั้นสุดท้าย การแก้ไขเพิ่มเติมจะผ่านต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดจากทั้งสองสภา และเมื่อเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือมีข้อความขัดหรือแย้งกับมาตรา 268 ที่ห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหลักการสำคัญในมาตรา 269 เช่น หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือ การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หรือไม่
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป แต่ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหลักการสำคัญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนให้รัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
แสดงความเห็น