“Oh, won’t you stay with me… cause you’re all I need” เป็นส่วนหนึ่งของเพลง Stay with me ร้องโดย Sam Smith เมื่อได้ยินเพลงนี้ หลายๆ คนคงคิดถึงการขอร้องให้ใครสักคนที่เรารักอยู่กับเราต่อไป แม้ว่าสิ่งที่ตามมานั้นจะไม่ใช่ความรักก็ตาม เนื้อเพลงท่อนนี้ทำให้นึกโยงเข้ากับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม บทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติในประเด็นการอยู่ทำหน้าที่ต่อ (ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง) ของ คสช.
เบื้องหน้า: อำนาจ ม.44 ยังอยู่จนกว่าประเทศจะมี ครม.ใหม่หลังการเลือกตั้ง
มาเริ่มกันที่ในส่วนของบทเฉพาะกาลมาตรา 265 กล่าวไว้ว่าให้ คสช.อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ โดยในขณะที่ คสช.ยังอยู่ในตำแหน่งจะยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 นั่นหมายความว่า มาตรา 44 จะยังคงอยู่จนกว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตย
ประเด็นนี้ มีชัย ฤุชพันธ์ุ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงว่า "นี่เป็นกลไกปกติ หากคุณบอกว่าเราควรจะมีตำรวจ แต่ให้ตำรวจถอดปืน ถอดเข็มขัด ถอดกระบองออกไปให้หมด แล้วจะมีตำรวจไว้ทำอะไร ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง การดูแลโดย คสช.อาจต้องเข้มข้นมากขึ้น เพราะหากในช่วงเปลี่ยนถ่าย หากเกิดอะไรขึ้นมาแล้วทำให้ชะงัก ใครจะแก้ได้ เราต้องรักษาสถานภาพปัจจุบันไว้ก่อน"
ขณะที่ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ ว่าจะเกิดปรากฎการณ์สภาวะกฏหมายสูงสุดคู่ขนาน คือ แม้ร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านประชามติ แต่คสช. และอำนาจบังคับใช้ มาตรา 44 ก็จะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกถึง 15 เดือน ในช่วงดังกล่าว ประเทศไทยจะมีทั้งรัฐธรรมนูญ และมาตรา 44 ของ คสช.เป็นอำนาจสูงสุดควบคู่กันไป
เบื้องหน้า: รัฐธรรมนูญผ่านคสช.อยู่ต่ออย่างน้อย 15 เดือน
ต่อมาลองคำนวณเวลาที่เราจะได้ใช้ร่วม คสช.กันคร่าวๆ มาตรา 267 กล่าวไว้ว่าให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี2557 ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเพื่อทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 10 ฉบับให้แล้วเสร็จ โดยการร่างนี้จะเริ่มร่างภายใน 8 เดือนหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 นั่นหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้อง ‘ผ่าน’ การทำประชามติถึงจะเริ่มร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญ
หลังจากร่างเสร็จกรธ.จะส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ ซึ่งในกระบวนการนี้ต้องแล้วเสร็จภายในเวลา 2 เดือน ในกรณีที่การพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 2 เดือน จะถือว่า สนช.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.นี้ เมื่อ สนช.พิจารณาเสร็จ ต้องส่งร่างพ.ร.ป.นั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และกรธ.เพื่อพิจารณา ซึ่งถ้าส่วนนี้เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องแจ้งให้ประธานสนช.ทราบ ภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพ.ร.ป.นั้น และให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งมีจำนาน 11 คน ประกอบด้วยประธาน ศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมอบหมาย ฝ่ายละห้าคน
คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้จะพิจารณาร่างพ.ร.ป.ที่เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วเสนอต่อสนช.ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ถ้าสนช.มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสนช. ให้ร่างพ.ร.ป.นั้นเป็นอันตกไป แต่ถ้าไม่ถึง 2 ใน 3 ก็จะถือว่าสนช.ให้ความเห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 5 เดือนหลังจากร่างพ.ร.ป.มีผลบังคับใช้แล้ว
สรุปโดยคร่าวๆ ถ้าผลประชามติออกมา ‘ผ่าน’ และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ถูกประกาศใช้ คสช.จะอยู่กับเราไปอีกประมาณ 15 เดือนกับอีก 25 วัน
เบื้องหลัง: คสช.แต่งตั้ง ส.ว.อยู่ห้าปี ถ้าเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อย 9 ปี
มาต่อกันที่มาตรา 269 มาตรานี้กล่าวไว้ว่า ในวาระแรกเริ่ม ให้มี ส.ว.แต่งตั้งโดยคำแนะนำจากคสช. จำนวน 250 คน เข้ารับตำแหน่งโดยมีวาระ 5 ปี วิธีการสรรหาคือ ให้ คสช. เลือก 50 คนจากที่ กกต.คัดมาให้ และให้เลือก 200 คนจากที่คณะกรรมการสรรหาวุฒิสภา ซึ่ง คสช.เป็นคนแต่งตั้งเองคัดมาให้
ทั้งนี้ หากผลของประชามติประชาชน “เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญกับคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยคสช. มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.เป็นเวลาห้าปี จะทำให้ ส.ว.จำนวน 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยก็สองสมัย เพราะนายกฯ คนแรกมีวาระ 4 ปี หากหมดวาระ ส.ว.ชุดดังกล่าวซึ่งยังเหลือวาระอยู่ 1 ปี ก็จะสามารถเลือกนายกฯ ได้อีกหนึ่งสมัย ซึ่งนายกฯ คนดังกล่าวหากอยู่ครบวาระก็จะอยู่อีกถึง 4 ปี
ด้วยเหตุนี้รวมเบ็ดเสร็จ คสช.จะยังอยู่กับเรา (ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง) รวมๆ แล้วก็ประมาณ 9 ปี 3 เดือนกับอีก 25 วัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รัฐบาลคสช. และ กรธ. วางไว้หากประชามติทั้งสองคำถาม ‘ผ่าน’ ยังไม่รวมถึงในสถานการณ์ที่การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ‘ไม่ผ่าน’ ซึ่งก็ยังไม่มีการออกมาพูดถึงแต่อย่างใดว่าถ้าหากมันไม่ผ่านแล้ว จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เบื้องหลัง: กฎหมาย คสช.ยังคงอยู่ต่อไป และ คสช.นิรโทษกรรมตัวเองไว้แล้ว
สุดท้ายเรามาดูกันที่มาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือ มาตรา 279 ที่ระบุว่า ประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งหมดของ คสช. หรือของหัวหน้าคสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 รวมถึงประกาศ คำสั่ง ที่จะประกาศบังคับใช้ต่อไปในระหว่างดำรงตำแหน่งเพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามารับช่วงต่อ ไม่มีความผิดใดๆ และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป
ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน ประกาศ คำสั่ง คสช.จำนวนมาก เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล หรือ คำสั่งฉบับที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หลังจากนี้จะยังอยู่กับเราต่อไป
ซึ่งถ้าหากจะยกเลิกแก้ไขต้องกระทำเป็นพระราชบัญญัติ ยกเว้นประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะแก้ได้หรือไม่หรืออย่างไรนั้นอยู่ที่การพิจารณาจาก ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งด้วย
นั่นหมายความว่า คสช.มีการนิรโทษกรรมตนเองรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว และยังคงมีอำนาจตามประกาศและคำสั่งที่ออกไว้ แม้ว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 แล้วก็ตาม