หน้าที่พลเมืองตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด เห็นด้วยหรือไม่?

คะแนนเสียงของคุณจะถูกเก็บข้อมูลแบบนิรนาม ไม่สามารถระบุผู้ลงคะแนนได้ แต่สามารถยกเลิกการลงคะแนนได้ โดยใช้ข้อมูลรหัสที่ได้รับทางอีเมล  ไม่ต้องการรับอีเมล
ลงคะแนนแล้ว 2132 คน
เห็นด้วย 459ไม่เห็นด้วย 1673

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีบทบัญญัติใหม่เรื่อง “ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง” ปรากฎอยู่ในมาตรา 26-27 มีสาระสำคัญ คือการกำหนดให้ประชาชนชาวไทยทุกคนเป็นพลเมือง พร้อมกำหนดสิ่งที่พลเมืองต้องปฏิบัติ และหน้าที่ของพลเมือง หลายประการ

“มาตรา 26 ประชาชนชาวไทยย่อมมีฐานะเป็นพลเมือง

พลเมืองต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพหลักความเสมอภาค ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม มีค่านิยมที่ดี มีวินัย ตระหนักในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม รู้รักสามัคคี มีความเพียร และพึ่งตนเอง

พลเมืองต้องไม่กระทำการที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือไม่ยั่วยุ ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

รัฐมีหน้าที่ต้องปลูกฝังให้พลเมืองยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีค่านิยมประชาธิปไตย ตลอดจนจัดให้มีการศึกษาอบรมในทุกระดับ ทุกประเภท และทุกกลุ่มอายุ เพื่อสร้าง ความเป็นพลเมืองตามมาตรานี้

“มาตรา 27 พลเมืองมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้

(2) ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

(3) เสียภาษีอากรโดยสุจริต

(4) ใช้สิทธิทางการเมืองโดยสุจริตและมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวม

(5) ช่วยเหลือราชการ ช่วยเหลือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ รับการศึกษาอบรม ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพโดยสุจริต ปกป้อง พิทักษ์ อนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้ง สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบัน ถือเป็นครั้งแรกที่กำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับ “หน้าที่” ขึ้นมาก่อน “สิทธิและเสรีภาพ” และบทบัญญัติว่าด้วย “หน้าที่พลเมือง” นี้ ก็ทำให้เกิดทั้งเสียงชื่นชม-สนับสนุน และคำถามกับข้อโต้แย้งตามมามากมาย

 

สถานะการเปิดให้โหวต: 
ปิดการโหวต

แสดงความเห็น

ประเด็นสนับสนุน

แม้จะผ่านมากว่า 83 ปีแล้ว แต่สาเหตุที่ประเทศไทยยังสร้างประชาธิปไตยไม่เสร็จเสียที เพราะเรามัวแต่สนใจให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่สร้างสังคมประชาธิปไตย ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วง กบฎ รัฐประหาร ครั้งแล้วครั้งเล่า

การสร้างพลเมืองให้เข้มแข็ง จะช่วยสร้าง “สังคมประชาธิปไตย” ที่มีส่วนในการตวจสอบคัดกรองผู้ที่จะเข้ามามีอำนาจ 

โดยร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ได้กำหนดให้มีพลเมืองเข้าไปเป็นสมาชิก “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” “สมัชชาพลเมือง” “องค์กรตรวจสอบภาคประชาชน” ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบผู้มีอำนาจและการใช้อำนาจรัฐ

Votes: ชอบ 4 ไม่ชอบ 11 4 ความเห็น

วิกฤตบ้านเมืองเมืองที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการประชาชนขาดจิตสำนึกในความเป็น “พลเมือง” เป็นเพียงผู้ถูปอุปถัมภ์ของชนชั้นปกครองใหม่ที่มาจาการเลือกตั้ง มีการใช้สิทธิและเสรีภาพตามอำเภอใจโดยไม่สนหน้าที่ ทำให้เกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ทำตามกติกาหรือกฎหมายนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ใช้วิจารณญาณของตัวเอง มีการซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ร่วมตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ สนใจแต่เรื่องบันเทิงเริงรมณ์

ทั้งที่ พลเมือง (citizen) ไม่ได้หมายถึงผู้ถูกปกครองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผู้มีบทบาทในการเสนอนโยบายสาธารณะหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

Votes: ชอบ 1 ไม่ชอบ 5 2 ความเห็น

ถือให้เป็นหน้าที่ของพลเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร และปลูกฝังการต่อต้านรัฐประหารให้กับประชาชนทุกคนโดย ให้แก้ปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตย  ต้องเข้มข้นกว่ารัฐธรรมนูญ 50

Votes: ชอบ 6 ไม่ชอบ 0 4 ความเห็น

ประเด็นคัดค้าน

ค่านิยมเป็นความเชื่อส่วนบุคคล การกำหนดให้พลเมืองต้องมี “ค่านิยมที่ดี” จึงเกิดคำถามว่าจะเป็นค่านิยมที่ดีของใคร หรือดีสำหรับใคร ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย

เนื้อหาที่ปรากฎในบทบัญญัติเรื่องหน้าที่พลเมือง หลายส่วนถูกมองว่าหยิบยกมาจากค่านิยม 12 ประการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ซึ่งก็จะเกิดคำถามตามมาว่า “ค่านิยมที่ดี” สำหรับ พล.อ. ประยุทธ์ หรือ คสช. ควรจะเป็น “ค่านิยมที่ดี” สำหรับประชาชนชาวไทยทั้งชาติ จริงหรือไม่

 

Votes: ชอบ 18 ไม่ชอบ 1 6 ความเห็น

แม้เนื้อหา “หน้าที่พลเมือง” บางส่วน จะถูกหยิบมาจาก “หน้าที่ของชนชาวสยาม/ชนชาวไทย” ซึ่งปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จำนวน 10 ฉบับ ทั้งปี 2475 ปี 2489 ปี 2492 ปี 2495 ปี 2511 ปี 2517 ปี 2521 ปี 2534 ปี 2540 และปี 2550 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกำหนดให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น เสียภาษีอากร รับราชการทหาร ป้องกันประเทศ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือไปเลือกตั้ง

แต่ “หน้าที่พลเมือง” ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับล่าสุด กลับมีการกำหนดเรื่องที่เป็นนามธรรม และเป็นเรื่องเชิงปัจเจก เช่นกำหนดว่าต้องเคารพอะไร? หรือมีค่านิยมอย่างไร?

Votes: ชอบ 12 ไม่ชอบ 1 3 ความเห็น

ยกตัวอย่างของหน้าที่พลเมืองที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ เช่น

“...ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม มีค่านิยมที่ดี มีวินัย ตระหนักในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม รู้รักสามัคคี มีความเพียร และพึ่งตนเอง...” หรือ 

“...ช่วยเหลือราชการ ช่วยเหลือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ รับการศึกษาอบรม ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพโดยสุจริต ปกป้อง พิทักษ์ อนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้ง สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...”

Votes: ชอบ 7 ไม่ชอบ 0 5 ความเห็น

การกำหนดหน้าที่พลเมืองไว้ในกฎหมายให้ประชาชนปฏิบัติตาม แสดงว่าประชาชนจะ "ต้อง" ปฏิบัติ

แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าพลเมืองผู้นั้นทำผิดกฎหมาย ตำรวจ? ทหาร? นักการเมือง? หรือผู้มีอำนาจ?

มาตรฐานการตัดสินอยู่ตรงไหน? ใช้ดุลพินิจที่่เป็นความรู้สึก ที่คิดเอาเองมากกว่าหลักนิติธรรมที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

Votes: ชอบ 7 ไม่ชอบ 0 0 ความเห็น