ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการบัญญัติให้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาหลายองค์กร และหนึ่งในนั้นคือ 'สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ' โดยแนวคิดริเริ่มขององค์กรดังกล่าวเกิดขึ้นจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ได้เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.... เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ดี เนื้อสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์กรดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่จะมีการตราเป็นพระราชบัญญัติ กับ ส่วนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
สาระสำคัญของ 'สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ' ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1) กำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม หรือ 'ประมวลจริยธรรม' เพื่อใช้บังคับแก่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารซึ่งเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย และให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยต่อไป
2) มีอำนาจไต่สวนการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม จากนั้นให้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ต้องสอบสวนหรือไต่สวนอีก หรือ ให้สมัชชาคุณธรรมส่งเรื่องไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการและให้ประชาชนลงคะแนนถอดถอนเฉพาะเขต โดยมีโทษตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี
3) มีหน้าที่ในการปลูกฝังและส่งเสริมจริยธรรมของประชาชน และผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะ และอำนาจหน้าที่อื่น
4) ประเมินผลการวางตนของผู้นำการเมืองและผู้นำภาครัฐและให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติมอบหมาย ประเมินผล พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองตามส่วนนี้ แล้วให้แจ้งให้ผู้นั้น พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองนั้นทราบ (มาตรา 77)
5) สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีหน้าที่เลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคนมาเป็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา 261)
สาระสำคัญของสมัชชาคุณธรรม ตามที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบ ก่อนจะส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป มีดังนี้
1) การยกเลิก พ.ร.ฎ.จัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2554 แล้วจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ที่จะสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติแทน
2) ให้มี “คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลผู้เป็นแบบอย่างและได้รับความเชื่อถือทรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมความรู้ ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล
3) คณะกรรมการมีหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม ธรรมาภิบาล กำกับและสอบทานให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ กรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดตามมาตรฐาน
4) กรรมการชุดนี้จะได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์เฉพาะเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นโดยไม่มีค่าตอบแทนรายเดือน
5) มีคณะกรรมาการสรรหาคณะมนตรีฯ จำนวน 11 คน เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวน 1 คน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี
6) กำหนดให้มี “ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายของภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 55 คน โดยต้องไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด
แหล่งอ้างอิง : ผู้จัดการ
แสดงความเห็น