ควบรวม “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ” กับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เห็นด้วยหรือไม่ ?

คะแนนเสียงของคุณจะถูกเก็บข้อมูลแบบนิรนาม ไม่สามารถระบุผู้ลงคะแนนได้ แต่สามารถยกเลิกการลงคะแนนได้ โดยใช้ข้อมูลรหัสที่ได้รับทางอีเมล  ไม่ต้องการรับอีเมล
ลงคะแนนแล้ว 895 คน
เห็นด้วย 325ไม่เห็นด้วย 570

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2558  ได้มีการควบรวม “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” กับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เข้าด้วยกัน เกิดเป็นองค์กรใหม่คือ “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” ซึ่งมีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า การควบรวมจะช่วยประหยัดงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ทั้งสององค์กรและช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยเชื่อว่าการควบรวมจะไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะทั้งสององค์กรมีหน้าที่และกระบวนการทำงานต่างกัน และจะทำให้ประชาชนเหลือช่องทางร้องเรียนแค่ช่องเดียว

สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และหลังจากการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีฐานะเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งสององค์กรมีหน้าที่คล้ายกันคือตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี รวมทั้งกรณีการละเมิดจากภาคเอกชนด้วย ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบและรายงานข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเน้นทำหน้าที่นี้เมื่อประชาชนถูกกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ สิ่งที่ต่างกันคือคณะกรรมการสิทธิฯ สามารถฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายได้แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจทำได้

ภาพจาก http://www.springnews.co.th/politics/182953

อย่างไรก็ตาม เมื่อควบรวมทั้งสององค์กรเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” จะมีกรรมการจำนวน 11 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้มีความรอบรู้และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดินหรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 276 ดังนี้

1. ตรวจสอบและรายงานการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการเพื่อแก้ไขต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. พิจารณาและสอบหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน  
3. เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบทบัญญัติกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
4. เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด กระทบต่อสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย 
5. ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควร เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม หรือเมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ 
6. เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชน
7. ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
8. ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
9. รายงานต่อรัฐสภาเมื่อปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเสนอ และให้เปิดเผยต่อสาธารณชน และให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องโดยเร็ว
10. เสนอรายงานประจำปีพร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และเปิดเผยต่อสาธารณะ
11. อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ทั้งนี้ให้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนในการดำเนินการตามมาตรานี้ให้ชัดเจน กรณีใดต้องเป็นมติร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป

แหล่งอ้างอิง: เว็บไซต์รัฐสภา, เว็บไซต์ประชามติ

สถานะการเปิดให้โหวต: 
ปิดการโหวต

แสดงความเห็น

ประเด็นสนับสนุน

มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของเจ้าหน้าที่ให้เป็น “พนักงานของรัฐ” มิใช่ข้าราชการ (โดยเจ้าหน้าที่มีสิทธิในการเลือก) เป็นการเพิ่มความเป็นอิสระในการทำงาน อีกทั้งยังมีจำนวนเจ้าหน้าที่ในสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนเพิ่มขึ้น

Votes: ชอบ 3 ไม่ชอบ 1 2 ความเห็น

ดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การรวมองค์กรก็เพื่อให้มีประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ตลอดจนเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณรวมถึงคำนึงถึงกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีงานทับซ้อนเเละมีผลงานน้อยเกินเช่นในอดีตที่ผ่านมาด้วย

เช่นเดียวกับ คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าการควบรวมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของทั้ง 2 องค์กร

Votes: ชอบ 2 ไม่ชอบ 1 0 ความเห็น

การควบรวมช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเพราะสามารถยื่นร้องเรียนต่อหน่วยงานเดียว ลดความซ้ำซ้อนในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองและเป็นการลดภาระและต้นทุนในการเข้าถึงบริการของประชาชน

Votes: ชอบ 2 ไม่ชอบ 0 0 ความเห็น

ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีโครงสร้างและรูปแบบที่เป็นอิสระต่อกันและมีมติร่วมกันในรูปแบบคณะกรรมการ ขึ้นกับกรณี มีกรรมการแต่ละคนซึ่งแยกกันทำหน้าที่ในแต่ละด้านอย่างชัดเจน 

Votes: ชอบ 1 ไม่ชอบ 1 0 ความเห็น

มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนให้รายงานต่อรัฐสภาและเปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน

Votes: ชอบ 2 ไม่ชอบ 0 0 ความเห็น

ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ทั้งสององค์กรได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใกล้เคียงกันคือในปี 2556 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับงบประมาณ 212,811,700 บาท กรรมการสิทธิฯ ได้รับงบประมาณ 198,529,900 บาท

และในปี 2557 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับงบประมาณ 226,736,300 บาท กรรมการสิทธิฯ ได้รับงบประมาณ 206,303,200 บาท ดังนั้น ถ้ายุบรวมสององค์กรที่ทำงานคล้ายๆ กันและไม่ค่อยมีผลงานมากนัก ก็จะเป็นการประหยัดงบประมาณได้มาก

Votes: ชอบ 2 ไม่ชอบ 0 0 ความเห็น

มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินและกสมต้องควบรวมเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนไว้ มีข้อดีคือ

1.จัดการประสิทธิภาพที่ดีกว่า

2.ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน 

ข้อเสีย

1.กรรมการชุดเดิมหมดวาระก่อนกำหนด

 

Votes: ไม่มีคะแนน 0 ความเห็น

ประเด็นคัดค้าน

การควบรวมจะทำให้ประชาชนเสียโอกาสและทางเลือกในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพราะเหลือช่องทางการร้องเรียนเพียงช่องทางเดียว อีกทั้งยังขาดกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างกัน

Votes: ชอบ 3 ไม่ชอบ 2 0 ความเห็น

การควบรวมทั้งสองหน่วยงานเข้าด้วยกันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือด้านสิทธิมนุษยชนในสายตาต่างประเทศ รวมทั้งส่งผลให้คณะกรรมการสิทธิฯ ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลง

Votes: ชอบ 2 ไม่ชอบ 3 0 ความเห็น

หน่วยงานทั้งสองมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และกระบวนการทำงานที่แตกต่างกัน การควบรวมทั้งสองหน่วยงานเข้าด้วยกันจะไม่ช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้ไม่สามารถทำตามหน้าที่หลักขององค์กรได้ รวมทั้งหากกระบวนการสรรหาไม่มีความเป็นกลางก็ยิ่งส่งผลให้เกิดความโน้มเอียงไปสู่การละเลยด้านสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น

Votes: ชอบ 0 ไม่ชอบ 2 0 ความเห็น

การควบรวมทั้งสองหน่วยงานจะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินมีความแตกต่างกัน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมุ่งเน้นการตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน

Votes: ชอบ 0 ไม่ชอบ 1 0 ความเห็น